top of page

จิตที่ตั้งมั่นด้วยสติ และอุเบกขา ตอนที่ 2

ประสบการณ์ธรรมคุณมณฑล


การภาวนาในคอร์สที่ 3 ​คอร์สนี้ เป็นคอร์สแรกที่ข้าพเจ้ามีความเป็นห่วงใยในธาตุขันธ์ของท่านอาจารย์ และพยายามตั้งใจปฏิบัติอย่างมาก ทำหน้าที่ของศิษย์ให้ดีที่สุด เพื่อเป็นการลดภาระที่อาจจะส่งผลต่อธาตุ​ขันธ์​ของท่านอาจารย์


ในคอร์ส​นี้ข้าพเจ้าเกิดความซาบซึ้งต่อหลายสิ่ง ทั้งความเสียสละของธรรมบริกร อาจเนื่องด้วยก่อนหน้านี้ ข้าพเจ้าได้มาเป็นธรรมบริกร จึงทราบดีว่า ภาระหน้าที่ของการเป็นธรรมบริกรนั้นเหน็ดเหนื่อยเพียงใด และมีความซาบซึ้งอย่างมากต่อพระมหากรุณาธิคุณของพระบรมศาสดา ​

ในวันที่ท่านอาจารย์​มาสอนวันแรกในช่วงเช้าของการภาวนา ​ขณะที่ข้าพเจ้ายืนที่ระเบียงบนหอปฏิบัติ ข้าพเจ้า​ได้สำนึกถึงโอกาสที่ท่านอาจารย์​พูด​เสมอว่า มนุษย์​มักมีความประมาท​เสมอ ไม่เคยให้ความสำคัญ​กับ​โอกาส​ที่อยู่​ตรงหน้า ​เมื่อหมดโอกาสก็มักเอาแต่ร้องไห้​คร่ำครวญถึง โอกาส​ที่หมดไป และได้น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบรมศาสดาที่ทรงเสียสละ เพื่อเหล่าเวไนยสัตว์​ตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์ ​ทำให้ยืนน้ำตาไหลอยู่เช่นนั้น


เมื่อภาวนาจนกระทั่งเกิดเป็นมหาสติ ทั่วกายรัดตึง กายเบา จิตเบา จุดสัมผัสรัดแน่นเป็นก้อนแข็งมากขึ้น ทันใดนั้น จุดสัมผัสได้แตกออก เห็นเป็นรัตนะสีแดงสว่างเป็น​ประกายพวยพุ่งออกมาข้าพเจ้าวางอุเบกขากลับมาระลึกรู้ที่จุดสัมผัสจากนั้นรัตนะแดงแตกออกปรากฏคำว่า “จิตพุทธะ” เกิดปีติน้ำตาไหลพรั่งพรูไม่สามารถหยุดยั้งได้จากนั้นเห็นเป็นดอกบัวพุ่งออกจากรอยแตกของ รัตนะสีแดง จากดอกตูมเป็น​บานหลายดอก เลื้อยสูง สอดประสานขึ้นฟ้า ดอกต่อดอก ในจิตข้าพเจ้าเห็นตัวกิเลสต่างพากันแตกตื่น กระโดดปีนตามก้านดอกบัว เหล่าเทวดาต่างเข้าช่วยต่อสู้ ทันใดนั้นปรากฏป้าย ที่จุดสูงสุดของยอดมีตัวอักษรเขียนชัดเจน เจ้าตัวกิเลสไม่ยอมแพ้ เหวี่ยงเชือกขึ้นพันป้าย กระชากร่วงหล่นลงคาตา ข้าพเจ้าได้รายงานสภาวธรรมนี้ต่อท่านอาจารย์ ท่านกล่าวว่า “ไม่เสถียรค่ะ” แล้วให้ไปภาวนาต่อที่เรือนนอน ข้าพเจ้ากลับไปด้วยความเสียดายและคาดหวัง ​คิดวนตลอดทางเดินกลับเรือน เมื่อภาวนาก็ไม่สามารถรวมเป็นสมาธิได้ด้วยความยึดในสภาวธรรม และความอยากได้สภาวธรรมนี้ช่างติดตามหลอกหลอนอย่างมาก ทันใดนั้นก็ได้ยินเสียงของหลวงพ่อสัญชัย “มันเป็นธรรมดาอย่างนี้ อย่างนี้นี่เอง” จิตของข้าพเจ้าน้อมอ่อนลงทันที ด้วยเข้าใจความหมายในธรรม มนุษย์​นี้ช่างโง่เขลา มักถูก​หลอกให้ยึดติดทั้ง ๆ ที่ทุกสิ่งก็เป็นเรื่องธรรมดา​ ธรรมชาติของมันอยู่​เดิมแล้ว มักมองโลกกลับหัวแล้วเอามาเป็นตัวตนตามความคิดเรา​

จากนั้น ปรากฏภาพพระเถระกวักมือเรียกให้มานั่งภาวนา​ใกล้ ๆ ข้าพเจ้าคลานเข้าไปก็ปรากฏเป็นคณะพระอริยสงฆ์ที่ข้าพเจ้าเคยได้น้อมจิตกราบไหว้บูชาเป็นพ่อแม่ครูบาอาจารย์ ทั้งหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต หลวงปู่ดู่ หลวงปู่ทวด พระอาจารย์ใหญ่ หลวงพ่อเงิน หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ จิตของข้าพเจ้ารวมลงสงบนิ่งเบา จากนั้นเกิดความปีติน้ำตาไหล เพราะไม่เคยคิดเลยว่า พ่อแม่ครูบา อาจารย์จะมาให้กำลังใจจริง ๆ ท่านมาช่วยปกป้องคุ้มภัย ไม่เคยคิดเลยว่าจะได้รับความรัก ความเมตตาจากพ่อแม่ครูบาอาจารย์ได้ถึงเพียงนี้ ในคอร์สนี้ท่านอาจารย์ได้สอนเรื่อง โพชฌงค์ 7, การมีสติสัมปชัญญะ และการมีอุเบกขาอย่างยิ่ง หลังจากจบคอร์สข้าพเจ้ามีคำถาม​มากมาย สภาวะความไม่เสถียรต้องปรับปรุงแก้ไขเช่นไร จิตตั้งมั่นจะต้องตั้งมั่นเช่นไร ​อะไรคือสิ่งจำเป็นในขณะภาวนา​เริ่มคิดวนเกิดความท้อแท้ท้อถอยไม่อยากภาวนา จึงรีบตัดสินใจ​สมัครเข้าคอร์สที่ 4 สภาวธรรมในคอร์สที่ 4 ถือเป็นการชำระจิต พบกิเลสมากมาย มานะ อัตตา ริษยา ปฏิฆะ นันทิ​และการติดดี จนกระทั่งในวันสุดท้ายของการภาวนา ข้าพเจ้าได้พบจิตเดิมของข้าพเจ้าที่เศร้าสร้อย โดดเดี่ยว เพราะถูกกักขังมาอย่างยาวนาน ไม่สามารถออกมาสื่อสารใด ๆได้เพราะอยู่ภายใต้การควบคุมของกิเลส วันนี้ข้าพเจ้าได้พบแล้ว แต่เข้าใจแล้วว่าสิ่งสำคัญคือ การต้องให้อภัยตัวเอง ให้อภัยต่อการกระทำที่ผ่านมา แล้วเริ่มต้นใหม่ด้วยความไม่ประมาท อย่าตกเป็นทาส​ถูกลวงด้วยเล่ห์กลของกิเลสมารอีกเลย

หลังจากจบคอร์ส​ที่ 4 ท่านอาจารย์​เน้นย้ำเสมอให้มีสติสัมปชัญญะ​ “ท่านจะข้ามผ่านวัฏทุกข์​นี้โดยขาดสติและ​สัมปชัญญะ​ไม่ได้เลย” ข้าพเจ้าจึงเริ่มการฝึกฝน​สติสัมปชัญญะด้วยการกำหนดรู้​และสั่งจิตรู้ทุกอิริยาบถ เช่น กำหนดเดิน กำหนดรู้ลมหายใจ กำหนดการจับสิ่งของ แต่ก็ไม่สามารถทำได้ตลอดเวลาทั้งวัน ​จนพบว่าสติและสัมปชัญญะคือศัตรูของความคิดหรือความฟุ้งซ่าน เช่น เมื่อเรามีความคิดฟุ้งซ่าน คิดสิ่งต่าง ๆ อยู่​ พอเมื่อกำหนดรู้​ รู้สึกถึงเท้าที่ก้าวเดิน ก็จะเห็นการดับไปของความคิดทันที เห็น​การเกิด (ความรู้​สึกที่เท้า) ​การดับ (ความคิด) ​นี่คือการปิดอายตนะทางมโนวิญญาณ เกิดความสงบนิ่งของจิตใจเพราะตัดสิ่งที่มากระทบใจ ทำให้ไม่เกิดการปรุงแต่ง ​ไม่เกิดเวทนา ​(สุข/ทุกข์) ​ไม่เกิดตัณหา ​(อยาก/ไม่อยาก)​ ไม่เกิดอุปาทาน ​(ยึดมั่นถือมั่น) ​และไม่เกิดอารมณ์ ซึ่งเป็นอาหารของกิเลส “มีสติจึงตัดกิเลสได้” นี่เป็นการตัดตั้งแต่ต้นสายเลยทีเดียว นี้เรียกว่ากำลังเดินบนอริยมรรค​และเห็นอิทธิ​บาท 4 โดยแท้

กำหนดวางอุเบกขา ด้วยการโยนิโสมนสิการ พิจารณาทุกอย่างให้รอบคอบ ให้เห็​นเหตุปัจจัยตามธรรมชาติ รับรู้สิ่งต่าง ๆ รอบตัว แต่ไม่ให้ยึดติดรับมาเป็นอารมณ์ทั้งชอบใจไม่ชอบใจ ไม่ผลักไส ไม่รับเอา ทำตัวให้เป็นกลาง ๆ อย่างถูกต้อง ​พยายามเป็นฝ่ายเฝ้าดูไม่เข้าไปคลุกกับสิ่งต่าง ๆ รอบตัว หากมีสิ่งใดที่ละวางได้ยาก จะต้องใช้พลังแห่งขันติเข้ามาช่วย ขันติ คือความอดทนต่อสิ่งที่ทนได้ยาก จะเห็นได้ว่า ทั้ง 3 สิ่งต้องนำมาใช้ประกอบกันเพื่อปิดอายตนะ และเกิดการวางของอารมณ์​ปรุงแต่​ง จำไว้เสมอว่า อารมณ์คืออาหารของกิเลส หากไม่มีอาหาร ​กิเลสก็ไม่สามารถตั้งอยู่ได้ นี่คือสิ่งที่พิจารณาระหว่างวันของข้าพเจ้า เมื่อทั้งสามสิ่งนี้ถูกนำมาใช้ในขณะภาวนา ข้าพเจ้าก็สามารถดำรงเอกัคคตาขณะภาวนา​ได้นานขึ้นจาก 5 นาที เพิ่มเป็น ​10 นาที เป็น 30 นาที

ภาวนาคืนสุดท้าย​ก่อนมาเข้าคอร์ส​ที่ 5​ ข้าพเจ้า​ได้อธิษฐาน​จิตต่อหน้าองค์​พระในห้องพระว่า “ข้าแต่องค์​พระสัมมาสัมพุทธ​เจ้า​ ด้วยศิษย์​ทราบดีแล้วว่า ปัจจัตตังทั้งหมดในตนล้วนเกิดได้จากบารมีแห่งคุณพระศรี​รัตนตรัย​และพ่อแม่ครูบาอาจารย์​ ข้าพเจ้า​จึง​ขอน้อมอุทิศ​​ผลบุญ​ที่เกิดขึ้นทั้งหมดในคอร์ส​นี้แด่ท่านอาจารย์​อัจฉรา​วดี​ วงศ์​สกล ​วิปัสสนา​จารย์​อันประเสริฐ​ของข้าพเจ้า​ หากแม้นข้าพเจ้า​ไม่ได้พานพบกับท่านอาจารย์ ข้าพเจ้า​คงไม่อาจเห็น​หนทางอันบริสุทธิ์​แห่ง​พระพุทธ​องค์​ ท่านอาจารย์​ได้ทำทุกอย่างเพื่อเหล่าศิษย์​มามาก​แล้ว ​เหน็ดเหนื่อย​ทั้งแรงกายแรงใจท่านเอาชีวิตเข้าแลก ข้าพเจ้า​มิอาจรับผลบุญ​เหล่านี้เป็นของตนถ่ายเดียว​ ข้าพเจ้า​ขอเป็นผู้หนึ่ง​​ที่มอบคืนผลบุญนี้​เพื่อเทิดทูนบูชาพระคุณ​และตอบแทนพระคุณท่านอาจารย์​ด้วยจิต​กตัญญู​ เพื่อให้ท่านได้ชื่นใจ​ ให้ท่านได้มีรอยยิ้มบ้างก็ยังดี ​ข้าพเจ้า​จะทำหน้า​ที่ของศิษย์​อย่างสุดกำลังความสามารถ​ ไม่ว่าเหตุการณ์​ในอนาคตจะเป็​นเช่นไรก็ตาม”

ในคอร์สนี้ ท่านอาจารย์ได้นิมนต์พระคุณเจ้าฮวด มาเป็นพระอาจารย์ผู้ช่วยสอน ภายหลังจากการรับกรรมฐาน พระอาจารย์​ฮวดได้เทศนาให้แก่เหล่าศิษย์ให้รู้หน้าที่ หน้าที่อยู่​เหนืออารมณ์​และเหตุผล​ ตลอดจนเรื่องของการปล่อยวาง ในช่วงตอนหนึ่งท่านได้กล่าวว่า “สิ่งที่แล้ว ก็ให้แล้วกันไป อย่าไปยึดมั่นถือมั่น ให้ปล่อยวาง” เป็นการพูดจากจิตสู่จิต สะกิดปมในใจของข้าพเจ้า เกิดการละวาง น้ำตาไหลขึ้นมาทันที

ในวันนี้ ข้าพเจ้าภาวนาด้วยความแน่วแน่ สภาวธรรมที่เกิดขึ้นเมื่อสั่งจิตให้รู้ชัดคือ รู้ชัดจุดสัมผัส จากนั้น​สั่งจิตให้รู้ทั่ว ก็รู้สึ​ก​ทั่วทั้งกายเกิดเป็นดวงแก้วดวงใหญ่ครอบร่างกายอีกชั้นหนึ่ง ​เมื่อดวงจิตตั้งมั่น เห็นสภาวะความฟุ้งซ่านปรากฏ​เป็นแบบการพุ่งเข้ามาของความคิด พอจะเข้าดวงจิตกลับเคลื่อนที่ช้าลงจนเป็นภาพสโลโมชั่น เห็นการ​เกิดขึ้น​ตั้งอยู่และดับไปเป็นฝุ่นผง โดยข้าพเจ้ามีอาการอึดอัดแน่นบริเวณอกอยู่​ตลอดเวลาภาวนา​


วันที่ 2 ในช่วงบ่าย ข้าพเจ้าตั้งใจนั่งภาวนา 2 ชั่วโมงครึ่ง​ที่เรือนนอน ท้ายชั่วโมงเกิดจิตลอยพุ่งทะยานขึ้นฟ้า ทะลุผ่านกลุ่มหมอกควัน ​รู้สึก​จิตมีความอิสระหลุดพ้นจากสิ่งพันธนาการ ในวันที่ 3​ ขณะพักกลางวันทานข้าว ข้าพเจ้าได้มองเห็นหลายคนกำลัง​ชื่นชมยืนดูความสวยงามของดอกชงโคที่เรือนอาหาร ​แต่ข้าพเจ้ากลับรู้สึกว่า เจ้าดอกชงโคจะรู้หรือไม่ว่ามีคนให้ความชื่นชมในสีสัน​และความสวยสดงดงามของเจ้า เจ้าได้แต่ทำหน้าที่ของตนเท่านั้น เมื่อน้ำ ปุ๋ย ส่งมาอย่างสมบูรณ์ดีแล้ว ดอกชงโคเจ้าก็เบ่งบานตามหน้าที่ ​หาได้มีความคิดคาดหวังว่าจะมีคนมาสนใจ​หรืออวดตัวว่ามีกลิ่นและสีที่คนอื่นอยากชื่นชม​แต่อย่างใด จิตรู้บอกต่อทันทีว่า “เมื่อเหตุ​ปัจจัย​พร้อมดีแล้วก็​ย่อมแสดงผล ​ไม่ต้องคาดหวัง​ทะยานอยากใด ๆ” . ในการภาวนา​วันนี้​สามารถดึงจิตให้รู้ชัดอยู่ที่จุดสัมผัสได้นานพอสมควร นั่งภาวนา 2 ชั่วโมงต่อเนื่อง สภาวธรรมที่เห็นเป็นดอกบัวขนาดใหญ่ค่อย ๆ บานออก จิตละวางอุเบกขาด้วยความรู้สึกที่เป็นกลาง ไม่มีความอยาก ไม่รับเอาด้วยความพอใจ กลับมาเพ่ง ตรึง รู้ ที่จุดสัมผัสอย่างต่อเนื่องต่อไป จากนั้นข้าพเจ้าเห็นสภาวะดอกบัวแก้วที่มีจิตพิสุทธิ์ สว่างสุกใสอยู่ตรงกลางดอก ข้าพเจ้ากลับมาเพ่ง ตรึง รู้ ที่จุดสัมผัสอย่างต่อเนื่องต่อไป ใช้กำลังอุเบกขาละวางอย่างเป็นกลาง​ปรากฏ​คำว่า “ใส​กระจ่าง​สว่าง​เบา” ได้แต่รับรู้แล้ววางเฉย​ ท่านอาจารย์แจ้งว่าเป็นสภาวธรรมที่ดี ข้าพเจ้าได้กลับมาภาวนาที่เรือนนอน ​เมื่อเริ่มภาวนาไปสักครู่จิตรวมลงดำรง​สติตั้งมั่นได้​ เกิดเป็นก้อนพลังงานไหลม้วนเข้าปาก ผ่านลำคอลงไปในช่องท้อง ภาพแรกที่เห็นเป็นสัตว์ร้ายขนาดใหญ่พุ่งเข้าหาข้าพเจ้าด้วยพละกำลังความดุร้าย เป็นสภาวธรรมครั้งแรกที่เป็นภาพ เหมือนการพุ่งโจมตีเข้าใส่ ข้าพเจ้าวางภาพนั้นด้วยอุเบกขา ปรากฏภาพสัตว์เลื้อยคลาน แมลงนานาชนิด เดินไหลออกมาจากจมูก ตาและปากเป็นจำนวนมาก ข้าพเจ้าระลึกรู้ที่จุดสัมผัส วางอุเบกขา ไม่มีอารมณ์เกาะเกี่ยวสภาวธรรม จนเกิดกำลังของมหาสติ จุดสัมผัสรัดแน่นตึงเป็นก้อน ร่างกายรัดแน่น กายเบา จิตเบา ​เกิดการพุ่งทะยานของจิตเหมือนขึ้นรถไฟเหาะ เหมือนถูก​ผลักดันขึ้นด้วยแรงลม ลอยพ้นเหนือเมฆ​และค้างนิ่งอยู่กลางอากาศ ข้าพเจ้าสัมผัสได้ถึงความเบา ล่องลอยเหมือนดั่งขนนกที่ลอยในอากาศ แต่ไม่ร่วงหล่นลง ระลึกรู้ว่าทุกสิ่งรอบตัวหยุดนิ่ง แม้กระทั่งเวลาข้าพเจ้าปล่อยวาง และกลับมาระลึกรู้ที่จุดสัมผัส มือทั้งสองของข้าพเจ้าใหญ่โตขึ้น แข็งขึ้นเหมือนดังเป็น​ก้อนหิน

ข้าพเจ้ารับรู้ได้ว่า พลังเตโชธาตุกำลังชำระความหยาบกระด้างของจิต จึงค่อย ๆ ดำรง​สติสัมปชัญญะระลึกรู้ที่จุดสัมผัสด้วยอุเบกขา มือของข้าพเจ้าค่อย ๆ ยุบลง สักครู่หนึ่งสติที่อยู่ที่จุดสัมผัสก็พวยพุ่งออกมาเป็นอุปกรณ์คล้ายจอบที่มีปลายหยัก สับลงอย่างแรงที่กลางอกของข้าพเจ้า ถึง 2 เล่ม กระชากลากกิเลสออกมาเป็นยวง แต่ไม่สามารถดึงให้ขาดออกจากอกได้ ถึง​ ณ​ จุดนี้ ข้าพเจ้า​คงถอยไม่ได้เสียแล้ว ข้าพเจ้ากลับระลึกรู้ที่จุดสัมผัสอย่างต่อเนื่องปรากฏภาพของสติกลายเป็นมีดหลายเล่มพุ่งเข้าฟันรอยฉีกนั้นให้ขาดออก รากถูกกระชากขาดออกมากองต่อหน้า ข้าพเจ้าไม่ได้ใส่ใจติดตามว่ารากนั้นจะเป็นเช่นไร เพียรภาวนาต่อเนื่องด้วย “ขันติอย่างยิ่ง” ให้ยันไว้ที่จุดสัมผัส​ รักษา​สติ​ สมาธิ ​อุเบกขาให้ต่อเนื่อง กำหนดจิตให้​ “จิตนิ่ง​ตั้งมั่น​ไม่หวั่นไหว” ​


หลังจากถอนภาวนา ข้าพเจ้ารู้สึกโล่งเหมือนยกภูเขาออกจากอก สูดหายใจได้เต็มปอด รับรู้ถึงกลิ่นธรรมชาติ จิตเบิกบานและเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ ​เมื่อรายงานสภาวธรรมนี้ต่อท่านอาจารย์​ท่านอาจารย์แจ้งว่า นี่คือผลของกำลังสติและกำลังอุเบกขาอย่างถูกต้อง จากนั้นท่านอาจารย์ได้แสดงความยินดีที่จิตของข้าพเจ้าก้าวหน้า ข้าพเจ้า​ก้มลงกราบด้วยน้ำตา ​ในจิตไม่ได้มีความยินดีต่อความก้าวหน้าในทางธรรมแต่อย่างใด แต่น้ำตาที่ไหลออกมาเกิดจากความปีติที่ สามารถทำหน้าที่​ของศิษย์​ได้สำเร็จ ​ศิษย์​จะเป็​นศิษย์กตัญญู​ตอบแทนพระคุณท่านอาจารย์​จากนั้นข้าพเจ้าเดินไปก้มกราบที่ต้นพระศรีมหาโพธิ์​เพื่อแจ้งกับพระพุทธองค์ว่า ในการมาครั้งนี้ข้าพเจ้าได้กระทำสำเร็จแล้ว ข้าพเจ้าสามารถน้อมบุญแด่ท่านอาจารย์ได้อย่างภาคภูมิ สมกับความเป็นศิษย์ที่ได้ตั้งจิตปรารถนาไว้ก่อนการมาเข้าคอร์ส​ครั้งนี้แล้ว ในวันสุดท้ายของการมอบพวงมาลัยเป็นอาจาริยบูชา ข้าพเจ้า​ได้ก้มกราบและกล่าวว่า ข้าพเจ้าขอน้อมอุทิศ​ผลบุญที่เกิดขึ้นจากการเจริญเตโชวิปัสสนากรรมฐานในคอร์สนี้ แด่ท่านอาจารย์ผู้เป็นดั่งเนื้อนาบุญอันประเสริฐคอยสอนสั่งศิษย์ และชี้ทางหลุดพ้นให้ศิษย์ได้พบหนทางสว่างแห่งองค์​พระบรมศาสดา ​ศิษย์ไม่มีสิ่งมีค่าอันใดจะมอบให้นอกจากผลบุญนี้ ขอท่านอาจารย์ ได้โปรดประทาน​โอกาสให้ศิษย์​ได้น้อมอุทิศผลบุญนี้เพื่อเป็นการทดแทนพระคุณด้วยจิตกตัญญูด้วยเทอญ”

ขอน้อมกราบพระพุทธองค์ ด้วยความเคารพเหนือเศียรเกล้า ขอน้อมกราบพ่อแม่ครูบาอาจารย์ทุกภพทุกสมัย หลวงพ่อสัญชัย จิตตภโล และท่านอาจารย์อัจฉราวดี วงศ์สกล ด้วยความเคารพอย่างสูงยิ่ง

ข้าพเจ้าขอน้อมจิตถวายบุญกุศลที่เกิดจากการแบ่งปันธรรมทานนี้ แด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พ่อแม่ครูบาอาจารย์ทุกพระองค์และทุกท่าน ตลอดจนท่านอาจารย์อัจฉราวดี วงศ์สกล

bottom of page