top of page

จิตอาสา อัตตาลด (ตอนที่ 1)

ประสบการณ์ธรรม คุณแพรววไล

Knowing Buddha ได้จัดงานนิทรรศการ Spiritual Life Exhibition ซึ่งแสดงธรรมะในแนวโมเดิร์น เป็นการนำเสนอความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพระพุทธเจ้าว่า พระพุทธเจ้าคือใคร พระพุทธเจ้าสอนอะไร ได้อย่างทันสมัยร่วมสมัย จนนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศให้ความสนใจเข้าเยี่ยมชมอย่างล้นหลาม และเกิดความประทับใจอย่างมากมาย

การมาทำงานเป็นจิตอาสาถือว่าเป็นวาสนาอย่างยิ่ง ที่ได้ทำหน้าที่พุทธบุตร ผู้หมายตอบแทนความรักและพระมหากรุณาธิคุณแห่งพระพุทธบิดา โดยการออกมายืนหยัดปกป้องพระเกียรติพระบรมศาสดา ด้วยการหยุดยั้งการลบหลู่ต่อพระสัญลักษณ์ ถือเป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทิตาต่อพระบรมศาสดา ต่อพ่อแม่ครูบาอาจารย์ และท่านอาจารย์อัจฉราวดี วงศ์สกล ประธานมูลนิธิโนอิ้ง บุดด้า เพื่อการปกป้องพระพุทธศาสนา

“การมาเป็นจิตอาสา ถือว่าไม่เสียชาติเกิด” จิตอาสาท่านหนึ่งกล่าวกับดิฉัน ดิฉันได้มาเป็นจิตอาสาและเข้ามาก่อนวันเริ่มงานนิทรรศการ แต่ในครั้งนี้มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นก่อนงานนิทรรศการเพียงวันเดียว ทำให้ดิฉันไม่คุ้นเคยกับระบบใหม่ รวมทั้งจิตอาสาที่เคยทำงานร่วมกันเมื่อครั้งที่แล้วไม่ได้มาในครั้งนี้ถึง 2 ท่าน ทำให้จิตใจระลึกถึงเพื่อนอาสาที่เคยทำงานร่วมกันมา

ในวันที่ 3 ของการเป็นจิตอาสา ดิฉันทำหน้าที่เป็น informer ซึ่งมีหน้าที่ให้ข้อมูลในห้องนิทรรศการ ได้มีโอกาสพูดคุยกับนักท่องเที่ยว และได้สัมภาษณ์นักท่องเที่ยวท่านหนึ่งที่เกิดความประทับใจในนิทรรศการมาก แม้ยังไม่ได้ก้าวเข้ามาในห้องนิทรรศการก็ตาม โดยนักท่องเที่ยวท่านนี้กล่าวว่า เขารู้สึกถึงความสวยงามและความสงบ เพียงอ่านจากบอร์ดกลางแจ้ง เมื่อเข้ามาถึงนิทรรศการก็ถามว่า รับบริจาคหรือไม่ ดิฉันตอบว่าไม่มี และแนะนำให้เข้าไปที่เว็บไซต์แทน ทำให้รู้สึกว่าเมื่อได้ทำหน้าที่ Informer ได้มีโอกาสพูดคุยกับนักท่องเที่ยวแล้ว รู้สึกมีความผ่อนคลายสบายในวันนี้

ในวันที่ 4 ของการเป็นจิตอาสา ดิฉันกล่าวอนุโมทนาสาธุกับทุกท่านที่เข้ากะในวันนั้น เสมือนหนึ่งท่านได้รับเลือกเข้ามาในคอร์สปฏิบัติธรรมเลยทีเดียว แต่เป็นการปฏิบัติธรรมในที่สาธารณะ คือ การมาเป็นจิตอาสา ถือเป็นตัวแทนองค์กร เปรียบเสมือนการปฏิบัติธรรมกลางแจ้ง ที่ไม่ได้อยู่เฉพาะในธรรมสถาน ซึ่งเราจะต้องยิ่งมีสติและสำรวมมากยิ่งขึ้นในการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อการรักษาเจตนารมณ์ขององค์กรไว้ และเพื่อรักษาตนให้สมกับคำที่ว่า “ศิษย์คือเงาสะท้อนของท่านอาจารย์”

วันนี้มีคำถามว่า พระพุทธไสยาสน์กับพระพุทธรูปปางปรินิพพานเป็นพระพุทธรูปแบบเดียวกันหรือไม่? ก็ต้องตอบว่า “ไม่ใช่” คำถามนี้ทำให้ดิฉันได้ไปศึกษาและค้นหาความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับพระพุทธไสยาสน์ วัดโพธิ์ ปางโปรดอสุรินทราหู ดังนี้

พระพุทธรูปปางโปรดอสุรินทราหูเป็นพระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถนอนตะแคงข้างขวา พระบาททั้งสองข้างซ้อนทับเสมอกัน พระหัตถ์ซ้ายทาบไปตามพระวรกาย พระหัตถ์ขวาตั้งขึ้นรับพระเศียรและมีพระเขนย (หมอน) รองรับ บางแบบพระเขนยวางอยู่ใต้พระกัจฉะ (รักแร้) เรียกโดยทั่วไปว่าพระพุทธรูปปางไสยาสน์

พระพุทธรูปปางโปรดอสุรินทราหูมีตำนานดังนี้

ในสมัยที่พระพุทธองค์ประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหารในพระนครสาวัตถี อสุรินทราหูซึ่งเป็นอสูรอุปราชของท้าวเวปจิตติอสุรบดินทร์ผู้ครองอสูรพิภพ ได้สดับพระเกียรติคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจากเหล่าเทวดาทั้งหลาย จึงมีความประสงค์จะฟังพระธรรมเทศนาจากพระพุทธองค์ แต่คิดว่าพระพุทธองค์เป็นมนุษย์มีพระวรกายเล็ก ตนเองมีร่างกายใหญ่หากไปเฝ้าก็จะต้องก้มลงมองด้วยความลำบาก ซึ่งขนาดกายของอสุรินทราหูนั้นสูง 4,800 โยชน์ ที่ระหว่างแขน 1,200 โยชน์ ฝ่ามือและฝ่าเท้าหนา 300 โยชน์ ข้อนิ้วมือ 50 โยชน์ ที่ระหว่างคิ้วของเขา 50 โยชน์ หน้าผาก 300 โยชน์ ศีรษะ 900 โยชน์

พระพุทธองค์มีพระประสงค์จะลดทิฐิมานะของอสุรินทราหูอสูร จึงทรงเนรมิตกายให้ใหญ่โตกว่าอสุรินทราหูอสูร เสด็จบรรทมในลักษณะสีหไสยาสน์ พระเศียรหนุนภูเขาต่างพระเขนย พระบาททั้งสองข้างที่วางซ้อนกันอยู่ สูงใหญ่กว่าอสุรินทราหู อสุรินทราหูต้องแหงนคอเพื่อชมพุทธลักษณะ พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงปาฏิหาริย์พาอสุรินทราหูขึ้นไปยังพรหมโลก บรรดาพรหมทั้งหลายมีร่างกายเล็กกว่าพระพุทธองค์ แต่มีร่างกายที่ใหญ่โตกว่าอสุรินทราหูหลายร้อยหลายพันเท่า ต่างมองดูอสุรินทราหูเหมือนประหนึ่งมนุษย์มองดูมดปลวกตัวเล็ก ๆ อสุรินทราหูเกิดความกลัวจนต้องหลบอยู่ข้างหลังพระพุทธองค์ นับแต่นั้นมาก็ลดทิฐิมานะ อ่อนน้อมต่อพระพุทธองค์ และเมื่อได้สดับฟังพระธรรมเทศนาจึงเกิดความเลื่อมใส ขอถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะที่พึ่งสูงสุดแห่งชีวิต

พระพุทธรูปปางปรินิพพาน เป็นชื่อเรียกของพระพุทธรูปลักษณะบรรทม ตะแคงเบื้องขวา หลับพระเนตร พระเศียรหนุนพระเขนย พระหัตถ์ซ้ายทอดทาบไปตามพระวรกาย พระหัตถ์ขวาวางหงายอยู่ข้างพระเขนย พระบาทซ้ายทับซ้อนพระบาทขวา (เรียกโดยทั่วไปว่าพระนอนหรือพระไสยาสน์)

พระพุทธรูปปางทรงสุบิน เป็นพระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถนอนตะแคงขวา พระหัตถ์ซ้ายทอดทาบไปตามพระวรกาย พระพาหา (ต้นแขน) ขวาแนบกับพื้น ยกหลังพระหัตถ์ขึ้นแนบพระหนุ (คาง) งอนิ้วพระหัตถ์แนบกับพระปราง (แก้ม) หลับพระเนตร พระเศียรหนุนพระเขนย เป็นกิริยาบรรทมหลับในลักษณะสีหไสยาสน์

ซึ่งดิฉันได้ให้คำอธิบายตามความเข้าใจของตนเองที่เข้าใจว่าถูกมาตลอดผิดพลาดไป 2 เรื่อง อธิบายถูกต้อง 1 เรื่อง คือ เป็นพระพุทธรูปปางไสยาสน์ไม่ใช่พระพุทธรูปปางปรินิพพานเพราะ พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถนอนตะแคงด้านขวาและลืมพระเนตรอยู่ ส่วนสิ่งที่ผิดก็คือดิฉันเข้าใจว่า ที่พระพุทธไสยาสน์องค์ใหญ่ เป็นการแสดงยมกปาฏิหาริย์ เป็นการแสดงในช่วงที่จะโปรดชฎิล 3 พี่น้อง ซึ่งทำให้ดิฉันเกิดความกังวลใจและไม่สบายใจอย่างมาก “ขอแค่ยอมรับ” คำสอนท่านอาจารย์ได้ผุดขึ้นมา

ต่อจากนั้น สิ่งที่ต้องทำต่อไป คือ ข้อหนึ่ง ไปกราบขอขมาต่อพระรัตนตรัยว่า ได้กล่าวคำเกี่ยวกับพุทธประวัติผิดพลาดไปเพราะความไม่รู้ และสิ่งที่ต้องทำเพื่อชดเชยนั่นคือ การเผยแพร่สิ่งที่ถูกต้องเกี่ยวกับยมกปาฏิหาริย์และการโปรดชฎิล 3 พี่น้อง จนได้มาเป็นพุทธสาวกแห่งพระพุทธองค์

ในวันที่ 5 ของการมาเป็นจิตอาสา ดิฉันกล่าวเปิดกะในตอนเช้ากับจิตอาสาทุกท่านว่า ดิฉันรู้สึกว่า “จิตใจแข็งกระด้าง ดั่งหิน” “อัตตาใหญ่โต เหมือนยักษ์” จึงได้กล่าวขอขมาต่อจิตอาสาในวันนั้น และตั้งจิตขอขมาต่อจิตอาสาที่ได้ร่วมงานกันในวันก่อนหน้านั้นด้วยว่า “ดิฉันจะเป็นผู้ที่มีความอ่อนโยนมากขึ้น แล้วก็ลดอัตตาลง รวมทั้งอัญเชิญวิหารแห่งพระพุทธไสยาสน์ปางโปรดอสุรินทราหูไว้ในใจ” ดั่งอสุรอินทราหูผู้มีอัตตา สำคัญว่าตัวเป็นยักษ์ตนใหญ่ แต่แท้ที่จริงแล้วเมื่อพระพุทธองค์ทรงแสดงพุทธปาฏิหาริย์เนรมิตพระองค์ให้ใหญ่ จนอสุรินทราหูตัวเล็กเทียบเท่ากับมดปลวก จึงยอมลดอัตตาของตนลงซึ่งเป็นที่มาของปางโปรดอสุรินทราหูนั่นเอง ดังนั้นจึงขอใช้โอกาสนี้ ยกพุทธประวัติทั้งสองตอน คือ ตอนพระพุทธองค์ทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์และตอนพระพุทธองค์โปรดชฎิล 3 พี่น้องในตอนท้ายของประสบการณ์ครั้งนี้

ดิฉันทำหน้าที่อำนวยการใน 3 วันแรก รู้สึกเลยว่า ตนติดอยู่ในอัตตาของตน กลับไปถึงบ้านได้รำพันกับคู่ชีวิตว่า “ทำไมอัตตาในตนมันขนาดใหญ่จัง” “ทำอย่างไร จึงจะลดอัตตาลงได้?” และดิฉันก็พบว่าอัตตาจะลดลงได้ก็ต่อเมื่อ

ข้อ 1 รู้ว่าตนเองทำอะไรผิดพลาดไป และ ข้อ 2 ตนเองได้เจริญภาวนาได้ดี

ในวันนั้นเส้นผมของดิฉันได้เข้าไปเกี่ยวและพันเข้ากับกระดุมเสื้อจนไม่สามารถแกะออกได้ ดิฉันต้องขอให้เพื่อน ๆ หลายท่านช่วยดึงเส้นผมที่ติดอยู่ออก แต่ถึงอย่างไรก็ไม่มีใครสามารถดึงผมออกมาได้ ดิฉันจึงคิดว่าไม่จำเป็นจะต้องดึงให้ออกเวลานั้น กลับมาแล้วค่อย ๆ มาแก้ไขกันทีหลังได้

เดิมดิฉันคิดว่าจะไปที่ร้านทำผมให้ช่างทำผมดึงผมออกให้ แต่เมื่อกลับมาส่องกระจกก็เห็นว่า ที่แท้ผมพันเข้าไปในกระดุมมากจนยากที่จะดึงออกมาได้นั่นเอง และดิฉันเห็นว่า การจะแก้ปัญหาทั้งหมดเพียงแค่เลาะกระดุมออก เพราะกระดุมเม็ดเดียวที่เป็นสาเหตุให้ผมเข้าไปพันแล้วติดแน่นถึงขนาดนั้น ดิฉันจึงเลาะด้ายที่เย็บกระดุมไว้ออก แม้ดิฉันเลาะด้ายออกแล้วก็ตาม กระดุมก็ยังไม่ยอมหลุดออกมาง่าย ๆ เพราะ ยังมีห่วงเหล็กอยู่ด้านล่างกระดุม ทำให้ต้องใช้เวลาอีกพักหนึ่งจึงสามารถดึงกระดุมให้หลุดออกมาได้

เปรียบกระดุมเสมือนอัตตา เปรียบผมเสมือนการยึดมั่นถือมั่น

ดิฉันเห็นถึงอัตตาในตน ไม่ว่าเราจะทำงานแล้วกระทบต่อผู้อื่นผู้ใด ไม่ว่าจะเป็นใคร ล้วนแล้วแต่มาจากเราเป็นจุดศูนย์กลาง “อัตตา” เป็นสาเหตุของทุกสิ่ง การแกะกระดุมออกได้ เปรียบเสมือนการไม่มีตัวตน ไม่มีอัตตา ไม่มีที่ให้ยึด ไม่มีที่ให้ถือมั่น อีกต่อไป สุดท้ายก็สามารถเอาเส้นผมออกมาได้ โดยเส้นผมปลอดภัย

เมื่อทีมงานโทร. มาแจ้งกับดิฉันว่า ขอให้ดิฉันช่วยเขียนบทความขอบคุณทุกฝ่ายทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังในการจัดงานนิทรรศการ ดิฉันได้แจ้งกลับทีมงานไปว่า ดิฉันไม่รู้จะเขียนอะไร ขอให้คนอื่นเป็นคนเขียน แล้วดิฉันก็วางหูลง แต่หลังจากกล่าวเช่นนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ดิฉันรู้สึกเหมือนหัวใจสลาย 5 นาทีต่อมา ดิฉันจึงได้แจ้งกลับทางทีมงานไปว่า ดิฉันจะรับอาสาเขียนบทความนี้ด้วยตนเอง ถึงแม้ในใจลึก ๆ ยังมีความรู้สึกไม่อยากเขียนก็ตาม

เกิดอะไรขึ้น? หลังจากที่ดิฉันกลับจากงานนิทรรศการในวันสุดท้ายที่ทำหน้าที่เป็นจิตอาสา ดิฉันรู้สึกไม่สบายใจ จึงกลับมาปรึกษากับคู่ชีวิต โดยมีบทสนทนาดังนี้

ดิฉัน : “ดิฉันไม่สามารถทำหน้าที่ได้ดีพอ งานมีความผิดพลาดเกิดขึ้น ไม่เป็นตัวของตัวเอง เหมือนถูกจับตามอง แม้เคยเป็นจิตอาสานิทรรศการมาแล้วก็ตาม แต่ทุกอย่างมันไม่เหมือนเดิม ทุกวันมีการเปลี่ยนแปลง ตั้งแต่บุคคลไปจนถึงสถานการณ์” คู่ชีวิต : “นั่นเป็นสิ่งที่ดีจะได้ทำให้ดิฉันได้เรียนรู้พัฒนาและเติบโตขึ้นไป” ดิฉัน : “เราต้องรักษาเจตนารมณ์ให้คงอยู่ ให้ถูกต้อง ทำให้ตนเองรู้สึกว่าดูเข้มงวดเกินไปต่อจิตอาสาท่านอื่น” คู่ชีวิต : “เราเป็นหัวหน้า เราก็ต้องทำตัวสบาย ๆ ก่อน จิตอาสาก็จะได้รู้สึกผ่อนคลายตามไปด้วย” ดิฉัน : “อีกอย่างหนึ่ง คือ ท่านอาจารย์ไม่ได้มาเยี่ยมชมนิทรรศการครั้งนี้” คู่ชีวิต : “แล้วถ้าอีกหน่อย ท่านอาจารย์ไม่อยู่ ก็ไม่ต้องทำนิทรรศการหรือ?” ดิฉัน : “ไม่” “ต้องทำ และยิ่งต้องทำให้ดี” คู่ชีวิต : “ถ้าอย่างนั้นก็ให้คิดว่าท่านอาจารย์อยู่ตลอดเวลา จะได้มีกำลังใจ”

ดิฉันรู้สึกขอบคุณคู่ชีวิตมาก เพราะดิฉันไปทำหน้าที่จิตอาสาหลายวัน ความเป็นจริงแล้วดิฉันไม่ปรารถนานำเรื่องนิทรรศการกลับมาที่บ้าน แต่ว่าไม่ทราบจะปรึกษากับใคร คู่ชีวิตของดิฉันจึงเป็นบุคคลที่ดิฉันไว้วางใจและอบอุ่นใจที่สุดเสมอมา ที่ทำให้ดิฉันเข้าใจตนเอง รวมทั้งเมื่อคุยกับคู่ชีวิตทำให้ดิฉันเห็นว่า แท้ที่จริงแล้ว ความรู้สึกอึดอัด รู้สึกไม่สบายใจ เคร่งเครียด เราเป็นผู้กระทำให้ผู้อื่นรู้สึกเช่นนั้นนั่นเอง เพราะ

“ไม่ว่าอะไรเกิดขึ้น” “เราเคยทำกับเขามาก่อน” ท่านอาจารย์อัจฉราวดี วงศ์สกล (จากประสบการณ์ภาวนาในคอร์สเตโชวิปัสสนา 14-20 มกราคม 2562)

ก่อนที่เราจะไปปลุกจิตสำนึกผู้อื่น เราต้องปลุกจิตสำนึกตนเองก่อน ทำให้ตนเองเข้าใจแล้ว และนำไปปรับปรุง พัฒนาตนเองให้เป็นผู้มีความเห็นอกเห็นใจและเข้าใจผู้อื่นมากขึ้น นั่นคือจิตสำนึกที่ดีงามอันดับแรกของการมาทำหน้าที่เป็นจิตอาสา

บทความขอบคุณไม่รู้จะเขียนว่าอย่างไรดี เขียนไม่ได้ เขียนไม่ออก สุดท้าย ดิฉันต้องไปปรึกษากัลยาณมิตรท่านหนึ่งว่าดิฉันควรจะทำอย่างไร เมื่อเกิดความรู้สึกเช่นนี้ กัลยาณมิตรท่านนี้ได้กล่าวกับดิฉันว่า “ถ้าครั้งนี้ไม่อยากเขียนคำขอบคุณ จะนำไปสู่การไม่มา ไม่สมัครเป็นจิตอาสาในครั้งต่อไป องค์กรจะเสียคนดี ๆ ไป เป็นเรื่องที่น่าเสียดาย” “และที่สำคัญ ใครจะเป็นคนที่เสียใจที่สุด?” ดิฉันไม่ตอบ ดิฉันเข้าใจดีแล้ว และจะไม่มีวันให้สิ่งนั้นเกิดขึ้น รวมทั้งตั้งใจเขียนบทความนี้ให้ดีที่สุด

มีอยู่วันหนึ่งที่ดิฉันเป็นจิตอาสาได้เข้าไปพูดคุยกับเพื่อนจิตอาสาในห้องวิดีโอ ในช่วงเช้าที่ยังไม่ค่อยมีคนเข้าชมนิทรรศการมากนัก จิตอาสาท่านหนึ่งได้พูดกับดิฉันว่า “ขอให้ปฏิบัติหน้าที่ด้วย” ในเวลานั้น ดิฉันพูดกับอาสาท่านนี้ในใจว่า “ช่างกล้านัก” แต่เมื่อได้ขึ้นอาสนะภาวนาทำให้ดิฉันเห็นว่า ที่จริงดิฉันต้องขอบคุณอาสาท่านนี้มาก ที่มาเตือนสติทำให้ดิฉันกลับมาปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเต็มที่ และดิฉันอยากจะบอกว่า “ช่างกล้าหาญนัก”

ในวันจันทร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ หลังจากเสร็จสิ้นงานเดอะโซล สิ่งที่นำความปลาบปลื้มใจเป็นอย่างยิ่งแก่จิตอาสามากที่สุดคือ ท่านอาจารย์เมตตาให้นำอาหารและขนมมาให้ทีมอาสา ได้แก่ ข้าวมันไก่ ลูกชิ้นไก่ กระเพาะปลา ขนมเปี๊ยะ ขนมเรไร ขนมกลีบลำดวน ขนมชั้นดอกกุหลาบ มะม่วงกวน คุกกี้ กล้วยอบน้ำผึ้ง ขนมเบื้อง เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจกับจิตอาสา ทำให้รู้สึกถึงความเมตตาอย่างยิ่งของท่านอาจารย์ เมื่อเสร็จกิจสิ่งแรกที่ท่านอาจารย์ระลึกถึง คือพวกเรา เหล่าศิษย์จิตอาสาในงานนิทรรศการ Spiritual Life Exhibition ณ วัดโพธิ์

ขอน้อมกราบในความเมตตาของท่านอาจารย์เป็นอย่างสูงยิ่ง การได้มาเป็นจิตอาสาในนิทรรศการครั้งนี้ นับเป็นโอกาสที่ยิ่งใหญ่ที่ได้ใช้ลมหายใจตอบแทนพระมหากรุณาธิคุณแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อีกทั้งการได้รับความเมตตาจากท่านอาจารย์อบรมสอนสั่งธรรม ทำให้เกิดเป็นความกล้าหาญ กล้าที่จะก้าวออกมาจากสิ่งที่ขวางกั้นการทำความดี เพื่อปกป้องพระเกียรติของพระบรมศาสดา และเพื่อความยั่งยืนของพระศาสนา 5,000 ปี

#รชด #ภาวนา #สตปฏฐานส #พระอาจารยสมเดจพฒาจารยโต #รใหชด #เรองเลา #พระอาจารยสมเดจโต #ฆราวาส #ธรรมะ #ฝกสต #เพงดกาย #สมปชญญะ #สมาธ #ชำระจต #สต #นมตเตอน #ฝกสมปชญญะ #เตโชธาต #รตวทวพรอม #อาจารยอจฉราวดวงศสกล #ดจต #นอกวด #เพยรเผากเลส #ปฏบตธรรม #เผากเลส #วางเฉย #ฆราวาสบรรลธรรม #สมเดจโต #อเบกขา #วปสสนา #เพง #ขณะจต #นพพาน #เพยร #ธรรมแท #เพงดจต #กรรมฐาน #หลดพน #สมเดจพฒาจารยโต #เตโช #สตสมปชญญะ #จตบรสทธ #เตโชวปสสนา #ประสบการณ #เพยรภาวนา

bottom of page