top of page

ธาตุรู้

ประสบการณ์ธรรม ดร.ไพร

คนเราเวียนเกิด เวียนตายในวัฏสงสารมานับชาติภพไม่ถ้วน กี่กัปกี่อสงไขยแล้วที่เราไม่เคยเห็นจิตของตัวเอง เราจึงไม่เข้าใจ และไม่เข้าถึงในธรรมชาติแท้ของเราว่าจริง ๆ แล้วเราคืออะไร

ชาติภพนี้มีกายสังขารเป็นคน เราก็ว่าเราเป็นคน เป็นมนุษย์ สุนัขมันก็คงเข้าใจในอัตภาพของมันเองว่ามันเป็นสุนัขไม่ใช่เป็นคนเหมือนมนุษย์ ทั้งนี้ก็ด้วยความยึดมั่นถือมั่นในอัตตา ตัวตนนั่นเอง แล้วใครจะรู้บ้างไหมว่า ตนนั้นเคยเกิดเป็นสุนัขมาบ้างไหม แล้วเคยเกิดเป็นสุนัขกับเกิดเป็นคนอย่างไหนจะมากกว่ากัน

สัตว์ทุกชนิด มีธาตุรู้อันเดียวกัน ธาตุรู้นี้เปรียบเหมือนดวงอาทิตย์ที่ส่องสว่างอยู่กลางท้องฟ้าให้เราได้ใช้แสงสว่างนั้นมองเห็นทุกสิ่งทุกอย่าง แทนความมืดมิดด้วยแสงสว่างอันเดียวกัน เปรียบเสมือนน้ำในมหาสมุทรที่ปลาทุกตัวอาศัยอยู่ในน้ำเดียวกัน

จิตเดิมแท้หรือธาตุรู้นี้ก็เป็นเช่นนั้น ไม่ใช่ของของใคร ไม่มีใครเป็นเจ้าของ เพราะเป็นเช่นนั้นเอง ไม่เคยเกิดขึ้นและไม่เคยดับลง ไม่ใช่สิ่งที่ใครสร้างหรือจะถูกใครทำลายลงได้เลย ธาตุรู้นี้เป็นสิ่ง ๆ หนึ่งที่มีอยู่จริงในคนทุกคน แต่เราไม่อาจมองเห็นได้ด้วยตาเนื้อ ยิ่งอยากเห็นจะยิ่งไม่ปรากฏ มันเป็นความว่างที่แทรกซึมไปในทุกสรรพสิ่ง เป็นสิ่ง ๆ หนึ่งในทุก ๆ สิ่ง เป็นความสว่างรุ่งเรืองที่งดงามกว่าอัญมณีใด ๆ ในโลกทั้งสาม ปราศจากอารมณ์ ปราศจากความนึกคิดหรือปรุงแต่งใด ๆ ในความว่างที่ไม่สิ้นสุดนั้นสิ่งทุกสิ่งอยู่ในธาตุรู้นี้ แต่ธาตุรู้ไม่ใช่สิ่งใดเลยทั้งสิ้น เป็นแต่เพียงธรรมธาตุอย่างหนึ่งเท่านั้น และเป็นหนึ่งเดียวเท่านั้นในสามแดนโลกธาตุ

เราและสิ่งต่าง ๆ รอบ ๆ ตัวเราจึงมีธรรมชาติแท้เป็นสิ่งเดียวกัน จึงไม่มีความแตกต่างกันเลยระหว่างผู้กระทำและสิ่งที่ถูกกระทำ เพราะคือสิ่ง ๆ เดียวกันนั่นเอง ความแตกต่างทั้งหลายเกิดจากความคิดปรุงแต่งด้วยความไม่รู้ของเราเองเท่านั้น เพราะจิตเดิมแท้ไม่เคยเปลี่ยนแปลงยังคงเป็นเช่นนั้นมานับอนันตกาล ความพยายามที่จะใช้จิตไปค้นหาจิตของเรานั้น จะทำให้เราพลาดจากการรับรู้ถึงความมีอยู่จริงของสิ่ง ๆ นั้น ยิ่งอยากได้ยิ่งไม่ได้ ยิ่งอยากเห็นยิ่งไม่เห็น เพราะเป็นสิ่งลึกลับที่มีอยู่แล้วในคนทุกคน

การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานนั้นมีหลายแนวทาง แต่แนวทางที่ข้าพเจ้าปฏิบัติอยู่คือเตโชวิปัสสนากรรมฐาน คือ การตั้งสติรู้กาย เวทนา จิต ธรรม มีสติสัมปชัญญะรู้ตัวทั่วพร้อมตามหลักแม่บทสติปัฏฐานสี่ เป็นการจุดธาตุไฟในกายมาเผาชำระกิเลสและกองสังขารที่หมักหมมในจิตออกไปด้วยความเพียร วางอุเบกขาให้จิตเป็นกลางต่อความสุขและความทุกข์ ความพอใจและความไม่พอใจ เมื่อจิตตั้งมั่นผู้รู้จะมีกำลังมากขึ้น แล้วจะเกิดการรวมตัวของจิต แรก ๆ จะเห็นเหมือนแสงไฟสว่างวาบขึ้นมา เหมือนแสงแฟลชของกล้องถ่ายรูป เมื่อเกิดบ่อย ๆ เข้าก็จะเห็นเหมือนดวงสว่าง ๆ และมีผู้รู้เกาะติดอยู่อย่างชัดเจน เรียกว่าเกิดอาการ “โพล่ง” ขึ้นมา และมันเป็นเช่นนั้นจริง ๆ ความรู้สึกเจ็บปวดหรือเวทนาทางกายกับความรู้สึกที่ตัวผู้รู้นี้จะแยกออกจากกัน จิตไม่รู้สึกเจ็บปวดและเป็นเพียงผู้ดู ผู้เห็นเท่านั้น ไม่ใช่ผู้เจ็บปวด

เราจะมีความเข้าใจขึ้นมาทันทีเลยว่านี่คือชีวิตแท้ของเราที่มันไม่เคยตายและพาเราไปเวียนเกิดเวียนตายมานับภพ นับชาติไม่ถ้วน ทุกครั้งที่นั่งภาวนา ข้าพเจ้าพยายามให้เห็นผู้รู้นี้อีก แต่ก็ไม่เห็น ผู้รู้นั้นหายไปเลย เพียงแต่มีความรู้ชัดเกิดขึ้นในจิตเท่านั้น แต่จะไม่เห็นเป็นดวง ๆ อย่างที่เคยเห็น ข้าพเจ้าสามารถแยกความรู้สึกกับเวทนาออกจากกันได้อย่างอัตโนมัติเมื่อมีจิตตั้งมั่น จึงเห็นได้ว่ากายไม่ใช่เรา เวทนาก็ไม่ใช่เรา เมื่อมีการปฏิบัติต่อเนื่องตามหลักอริยมรรคมีองค์ 8 แล้วรวมมรรค 8 เป็น ศีล สมาธิ และปัญญา ข้าพเจ้ายิ่งเห็นทุกสิ่งเป็นไปตามกฎไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

เมื่อจิตตั้งมั่นเกิดสัมมาสติและสัมมาสมาธิขึ้นพร้อมกัน โดยมีความรู้ตัวทั่วพร้อมไม่เกร็งร่างกาย มีความเป็นอุเบกขา ไม่อยากเห็นอะไร ไม่อยากรู้อะไร กล่าวคือรู้สึกเฉย ๆ ในวันหนึ่งของปีถัดมาขณะที่ข้าพเจ้าอยู่ในคอร์สเตโชวิปัสสนากรรมฐานซึ่งเป็นคอร์สที่ 6 ของข้าพเจ้าในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ระหว่างรอการปฏิบัติในช่วงค่ำซึ่งยังมีเวลาเหลืออีก 45 นาทีจึงจะถึงเวลาปฏิบัติ ข้าพเจ้านั่งคอยที่เก้าอี้ใต้เรือนภาวนา ที่ธรรมสถานแสงธรรมโพธิญาณ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ข้าพเจ้านั่งดูลมหายใจ เข้า-ออกไปเรื่อย ๆ ไม่มีความอยากจะรู้หรืออยากจะเห็นอะไร จู่ ๆ จิตก็เกิดรวมขึ้น ในหูได้ยินเสียงพรึ่บและในตาที่ปิดอยู่ก็สว่างวาบขึ้น แต่ข้าพเจ้ากลับรู้สึกเฉย ๆ เพราะมีประสบการณ์มาหลายครั้งแล้ว

ทันใดนั้นก็ปรากฏแหล่งพลังงานลักษณะเหมือนกับดวงจันทร์ในคืนวันเพ็ญแต่สว่างกว่า จ้ากว่า และไม่เห็นหมดทั้งดวง เห็นได้แค่เพียงส่วนหนึ่ง รอบ ๆ ขอบของแหล่งพลังงานนั้นก็มีลักษณะคล้ายคลื่นความร้อนบนถนนเมื่อยามถูกแดดเผา เป็นเปลวที่ในภาษาอังกฤษเรียกว่า มิราจ (Mirage) เป็นเงาจาง ๆ แล้วจู่ ๆ ก็มีแสงพุ่งออกมาจากดวงสว่าง ๆ ดวงนั้นออกมาเหมือนไฟของการเชื่อมเหล็กเป็นเปลวหลาย ๆ สี สวยงามมาก พ่นฟู่ออกมาแล้วดับ พ่นแล้วดับ พ่นแล้วดับ อยู่อย่างนั้น โดยที่ดวงสว่างนั้นยังสว่างและนิ่งสนิทอยู่เช่นนั้น ในความรู้สึกที่เห็นครั้งแรกรู้สึกทุกข์ อยากร้องไห้ เหมือนกับว่าจิตเดิมแท้มันทุกข์ ทุกข์ที่ถูกอวิชชาหุ้มห่อทำให้ขาดความเป็นอิสระ ต้องมาเวียนเกิด เวียนตายนับภพนับชาติไม่ถ้วน จิตสลดสังเวชกับการเกิดแล้วตาย ตายแล้วเกิด จึงพยายามคายพลังออกมาเพื่อทำลายเปลือกอวิชชาที่ห่อหุ้มจิตเดิมอยู่

ถึงแม้จิตจะมีความสว่างเป็นประภัสสรแต่ก็ไม่เป็นอิสระ จิตได้แต่นิ่ง ๆ อยู่อย่างนั้นเสมือนหนึ่งไม่เคยขยับเขยื้อนมาเลยตลอดหลายอสงไขยกัป ความรู้สึกสะท้อนเข้ามาสู่ใจและก็รู้สึกถึงองค์ประกอบในส่วนนามธรรมของเราในขณะนั้นว่า มีผู้ดู มีความคิด และมีตัวผู้เห็นต่อปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ธรรมธาตุนั้นกลายเป็นสิ่งที่ถูกรู้โดยจิตผู้รู้ และทั้งหมดนั้นถูกเห็นโดยผู้เห็นที่นิ่ง ๆ เฉย ๆ อยู่ รวมทั้งเห็นความคิดทั้งหมดด้วยว่า “ให้อุเบกขา” “ให้ปล่อย ให้วางมันไป” “ให้รับรู้ แล้ววางเฉย” ก็พยายามทำตามที่รู้สึกนั้นแต่มันก็ยังปรากฏอยู่เช่นนั้น ไม่ยอมหายไปไหน ยังเป็นเหมือนดวงจันทร์ที่สว่างโพลงและมีแสงพวยพุ่งอยู่เช่นนั้น โดยมีเราและขันธ์ 5 อยู่ภายนอก และไม่เกี่ยวเนื่องใด ๆ กับจิตดวงนั้น

จิตเดิมแท้ ภายในนั้นเป็นความว่างที่สว่างไร้ขอบเขต เหนือคำพูด เหนือจินตนาการใด ๆ ทั้งสิ้น มันเป็นสภาวะที่อธิบายด้วยคำพูดอะไร ๆ ที่เกิดในความรู้สึกนั้นไม่มีทางได้ ไม่มีทางเหมือน อธิบายอย่างไร ๆ ก็ไม่ใช่ มันเป็นของมันเดี่ยว ๆ อยู่อย่างนั้น จะว่ามีตัวตนก็ไม่ใช่ จะว่าเป็นอนัตตาก็ไม่ใช่ แล้วมันเป็นอะไรล่ะ “ทุกสิ่ง เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา” คำสอนของพระพุทธองค์ได้ผุดขึ้นมาให้จิตใต้สำนึก เข้าใจอย่างแจ่มแจ้ง แม้แต่ตัวเราเองก็ไม่มี อะไร ๆ ก็ไม่มี มีแต่จิตนี้เท่านั้นที่พยายามสลัดออกจากการปรุงแต่งจากอวิชชา แต่ข้าพเจ้ากลับใช้ความพยายามในการปล่อย ในการวาง ในการละ ความอยากเป็นตัณหา ที่ทำให้ขาดอุเบกขา ขาดความเป็นกลาง ความพยายามทำให้ขาดมัชฌิมาปฏิปทา เป็นกิเลส เป็นตัณหา เกิดสังขาร ทำให้เกิดภพ เกิดชาติ ตามมาอีก

ทุกข์ให้รู้ ก็รู้แล้ว เห็นแล้ว การเกิดนั้นแหละทำให้ทุกข์ สมุทัยให้ละ พยายามละกลับเป็นตัณหา เป็นความอยาก หมุนกลับไปสู่วงจรปฏิจจสมุปบาทอีก แล้วเมื่อไหร่จึงจะละได้โดยไม่มีตัณหา วางได้โดยไม่ยึดติดในทุกข์ ไม่ยึดติดในสุข ไม่ยึดติดในความสำเร็จหรือล้มเหลว เพื่อให้ถึงการดับทุกข์หรือนิโรธได้เล่า ทั้ง ๆ ที่ นี่คือมรรค ที่พระพุทธองค์ตรัสสอนไว้ อวิชชาช่างเก่งเหลือเกิน เหนือเราไปทุกอย่าง รู้ทันเราหมด เกมซ้อนเกม กลซ้อนกล กรรมซ้อนกรรม เราจึงยังพ้นทุกข์ไม่ได้เพราะเรายังเข้าใจผิดอยู่ว่าธาตุรู้นี้เป็นของเรา จะปล่อยธาตุรู้ของเราเป็นอิสระ ไปสู่ความว่างของจักรวาลอันเป็นนิรันดร์ เพราะเขาไม่ใช่เรา เราไม่ใช่เขา เขานั่นแหละคือพุทธะที่แท้จริง ซึ่งมีอยู่แล้วในใจของเราทุกคน

ท่านอาจารย์อัจฉราวดี วงศ์สกล วิปัสสนาจารย์ของข้าพเจ้า ท่านเมตตาสอนให้เพียรต่อไป ทำหน้าที่ต่อไป ศิษย์จะเพียรต่อไปด้วย “อาตาปี สัมปะชาโน สติมา” “พึงมีความเพียรเผากิเลส” และ “วิเนยยะ โลเก อะภิชฌาโทมะนัสสัง” “ถอนความพอใจและไม่พอใจในโลกออกเสียได้” ด้วยศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญาที่ถึงพร้อมแล้ว และด้วยความกตัญญูต่อพระบรมศาสดา ต่อพระพุทธศาสนา และพ่อแม่ครูอาจารย์เหนือเศียรเหนือเกล้า วันหนึ่งข้างหน้า ข้าพเจ้าจะต้องทำที่สุดแห่งทุกข์ให้ได้ในชาตินี้ ปลดปล่อยจิตเดิมให้เป็นอิสระไปสู่แดนที่เขาจากมา…แดนนิพพาน เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา และอาจาริยบูชา

#รชด #ภาวนา #สตปฏฐานส #พระอาจารยสมเดจพฒาจารยโต #รใหชด #เรองเลา #พระอาจารยสมเดจโต #ฆราวาส #ธรรมะ #ฝกสต #เพงดกาย #สมปชญญะ #สมาธ #ชำระจต #สต #นมตเตอน #ฝกสมปชญญะ #เตโชธาต #รตวทวพรอม #อาจารยอจฉราวดวงศสกล #ดจต #นอกวด #เพยรเผากเลส #ปฏบตธรรม #เผากเลส #วางเฉย #ฆราวาสบรรลธรรม #สมเดจโต #อเบกขา #วปสสนา #เพง #ขณะจต #นพพาน #เพยร #ธรรมแท #เพงดจต #กรรมฐาน #หลดพน #สมเดจพฒาจารยโต #เตโช #สตสมปชญญะ #จตบรสทธ #เตโชวปสสนา #ประสบการณ #เพยรภาวนา

bottom of page