top of page

นักรบกองหนุน

ประสบการณ์ธรรม คุณณภัทร


ข้าพเจ้าชื่อ ณภัทร อายุ 47 ปี อาชีพรับราชการ เป็นศิษย์เตโชวิปัสสนาตั้งแต่ปี 2561 รู้จักสายธรรมเตโชวิปัสสนาจากการอ่านหนังสือฆราวาสบรรลุธรรม เขียนโดย ท่านอาจารย์อัจฉราวดี วงศ์สกล

ก่อนหน้านี้ข้าพเจ้าใช้ชีวิตเยี่ยงปุถุชนทั่วไป ท่องเที่ยว ดื่ม กิน เข้าวัดทำบุญทำทานบ้างตามกาล มีเบียดบัง เบียดเบียนผู้อื่นบ้าง ตามประสามนุษย์ที่ใช้ชีวิตอย่างประมาทและไร้จุดหมาย

จนเมื่อชีวิตถึงคราวหักเหให้พบความทุกข์อย่างสาหัส จึงเริ่มหันเข้าหาธรรม เริ่มสวดมนต์ บทที่ข้าพเจ้าสวดครั้งแรกคือ พระคาถาชินบัญชร สวดแล้วโล่ง สบายใจ แล้วก็เริ่มอ่านหนังสือธรรมะฝึกนั่งสมาธิด้วยตนเอง ชีวิตก็ค่อย ๆ ปล่อยวางความทุกข์ ความยึดมั่นถือมั่นลงไปเรื่อย ๆ จากนั้นก็มองหาที่ปฏิบัติธรรมแบบจริงจัง เคยลองไปบางที่ แต่ก็รู้สึกว่าไม่ใช่ จนเมื่อได้มาพบหนังสือฆราวาสบรรลุธรรมเล่ม 1 อ่านแล้วรู้สึกว่านี่แหละใช่แล้ว ข้ออรรถธรรมที่สื่อผ่านหนังสือกระตุกหัวใจข้าพเจ้ายิ่งนัก รู้สึกเหมือนได้พบพ่อแม่ครูอาจารย์ที่รอคอยมานาน หนังสือเล่มนี้เปิดมุมมอง เปิดปัญญาให้ข้าพเจ้าได้รู้ว่า “ฆราวาสก็สามารถบรรลุธรรมได้” เมื่ออ่านจบข้าพเจ้าก็พุ่งเป้าหมายมุ่งตรงมาที่เตโชวิปัสสนานับแต่วันนั้นจนถึงปัจจุบัน

3 ปีที่ฝากจิตวิญญาณไว้กับเตโชวิปัสสนากรรมฐานนี้ ข้าพเจ้าเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีมากมาย จิตใจอ่อนโยนขึ้น รู้จักคำว่า ปล่อยวางที่แท้จริงเป็นอย่างไร จากคนทุศีลกลายเป็นคนมีศีลมีสัตย์จนเป็นแบบอย่างแห่งความดีงามแก่คนรอบข้าง เรียกได้ว่า ข้าพเจ้าคือผู้ที่เดินทวนกระแสของสังคมอันเสื่อมถอยได้อย่างแข็งแกร่ง หนักแน่น ในฐานะฆราวาสผู้มีจุดหมาย

ปกติข้าพเจ้าจะมีโอกาสเข้าคอร์สวิปัสสนากรรมฐานได้ปีละ 1 ครั้ง เนื่องจากข้อจำกัดเรื่องวันลาพักผ่อน แต่ก็ภาวนาอยู่ที่บ้านอย่างมีวินัยตลอดมา และก็พยายามมาร่วมงานต่าง ๆ ที่ธรรมสถานจัดเสมอ

ในปี 2563 นี้ ข้าพเจ้าสมัครเข้าคอร์สเช่นเคย แต่ผู้สมัครเข้าคอร์สปฏิบัติธรรมมีเป็นจำนวนมาก ทำให้ข้าพเจ้าได้ที่สำรอง ทางเจ้าหน้าที่ผู้รับสมัครแจ้งว่า สมัครมาเป็นธรรมบริกรไหม ข้าพเจ้าจึงตอบตกลงทันที


นานหลายเดือนทีเดียวที่มิได้มาเยือนบ้านหลังนี้ ณ ที่แห่งนี้ยังสงบ สัปปายะ ต่างจากโลกภายนอก ข้าพเจ้าสูดลมหายใจรับอากาศบริสุทธิ์ได้เต็มปอด พูดคุย ส่งรอยยิ้มทักทายใครต่อใครได้เต็มที่

หากจะเปรียบธรรมสถานที่ตั้งตระหง่านในอ้อมโอบของภูเขาซามูไรแห่งนี้ คือสนามรบในแดนจิตของเหล่าศิษย์เตโชวิปัสสนากรรมฐานแล้ว การมาเข้าคอร์สปฏิบัติธรรมของข้าพเจ้าที่ผ่านมาก็คือการมาสู่สมรภูมิ เป็นกองหน้าโรมรันกับข้าศึกแบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน หากแต่ครั้งนี้ต่างออกไป ข้าพเจ้ามาในฐานะ “กองหนุน”

ในคอร์สนี้นับว่ามีผู้ปฏิบัติธรรมจำนวนมาก พวกเรา 12 ชีวิต ซึ่งประกอบด้วย แม่ครัว 1 คน ผู้ช่วยแม่ครัว 3 คน และธรรมบริกรอีก 8 คน เป็นหญิง 6 คน ชาย 2 คน แต่ละคนมีสถานะทางโลกที่แตกต่างกัน มีทั้งนักแสดง แม่บ้าน ผู้ที่ทำงานส่วนตัว และทำงานด้านการแพทย์ และธรรมบริกรทั้ง 8 คนนั้น 7 คนคือผู้มาใหม่ ไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน

เมื่อทุกคนมาพร้อมหน้าก็รวมตัวกันประชุมชี้แจงแจกจ่ายงานกันตั้งแต่ค่ำวันก่อนเปิดคอร์ส โดย มีแม่ครัวเป็นหัวหน้ากองหนุน ที่พวกเราพร้อมใจกันเรียกว่า แม่เล็ก (บางทีก็แอบเรียกว่าซังกุงสูงสุด) ซึ่งงานหลักของเราคือ ช่วยงานในครัว เตรียมวัตถุดิบในการทำอาหารในแต่ละมื้อสำหรับผู้ปฏิบัติ รวมถึงเตรียมอาหารคาวหวาน และเครื่องดื่มสำหรับท่านอาจารย์ อาจารย์ผู้ช่วยสอน และพระสงฆ์ และนำไปถวายท่านทุกมื้อ ดูแลความเรียบร้อยในเรือนอาหารในเรื่องของความสะอาด และความพอเพียงของอาหาร รวมทั้งจัดเก็บล้างภาชนะทุกอย่างในครัว

ดูแลเรือนนอน คอยดูแลเรื่องเปิด-ปิดไฟ และประตูเข้าออกตอนเช้าและก่อนนอน ตรวจตราผู้ปฏิบัติให้อยู่ในกฎระเบียบที่ธรรมสถานกำหนด และคอยช่วยเหลืออำนวยความสะดวกอื่น ๆตามแต่ผู้ปฏิบัติจะร้องขอ สำหรับคอร์สนี้มีธรรมบริกรซึ่งเป็นบุคลากรทางการแพทย์อยู่ 4 คน งานเพิ่มเติมคือ ดูแลปัญหาสุขภาพผู้ปฏิบัติ ซึ่งมีทั้งคนปวดท้อง เวียนศีรษะ ผู้มีโรคประจำตัว แต่ไม่ได้นำยามาทานระหว่างเข้าคอร์ส ธรรมบริกรก็ต้องวิ่งหาซื้อยาให้ รวมถึงนำคนป่วยปวดท้องหนักส่งโรงพยาบาลตอนค่ำก็มี

หน้าที่สำคัญอีกอย่างของธรรมบริกรคือ ดูแลท่านอาจารย์ และอาจารย์ผู้ช่วยสอนบนหอปฏิบัติในระหว่างคอร์ส 7 วันนั้น ธรรมบริกรที่เป็นหญิงจะหมุนเวียนกันขึ้นไปดูแลท่านอาจารย์วันละ 2 คน คนอื่น ๆ ที่เหลือก็ช่วยงานในครัว


ในวันแรก ๆ นั้น งานทุกอย่างจะยังไม่เข้าที่เข้าทางนัก โดยเฉพาะงานในครัว แน่นอนว่า ความอลหม่านย่อมเกิดขึ้น ทั้งจากความใหม่ของคนทำงาน เพราะบางคนไม่ได้ใหม่แค่งานบริกรเท่านั้น แต่ใหม่ถอดด้ามสำหรับงานในครัวกันเลยทีเดียว รวมถึงความสนิทคุ้นเคยกันในทีม และเครื่องมือเครื่องครัวที่ไม่คุ้นเคย แต่ในความวุ่นวายนั้นก็สร้างรอยยิ้มให้เราได้เสมอ โดยเฉพาะแม่ครัวผู้อารี ใจเย็น ใจดี ยิ้มได้ทุกสถานการณ์ แม่เล็กจะเป็นผู้กำหนดอาหารในแต่ละมื้อ ตรวจสอบคุณภาพวัตถุดิบ และต้องคอยตอบสารพันคำถามของพวกเรา “อันนี้หั่นยังไง อันนั้นเก็บตรงไหน หม้อนี้วางตรงไหน ของนี้เก็บตรงไหน ผักนี้เรียกว่าอะไร ฯลฯ ”

ครั้งหนึ่งที่แม่เล็กกำลังสาละวนปรุงอาหารอยู่หน้าเตา ก็ร้องบอกลูกทีม “ขอตะหลิวให้แม่หน่อย” มีเสียงตอบรับว่า “ได้ครับ” แล้วคนตอบก็วิ่งมาหาของกุกกักในกล่องเก็บพร้อมกับเอ่ยถามแม่เล็กกลับไปว่า “แม่ครับ ตะหลิวรูปร่างยังไงครับ” ฮา ๆๆๆ

อาหารแต่ละเมนูล้วนมีองค์ประกอบมากมาย ข้าพเจ้าเคยแต่มาเข้าคอร์สปฏิบัติ เวลาทานก็รับรู้ได้ถึงความพิถีพิถันในการจัด การปรุง แต่การได้เข้ามาสัมผัสงานในครัว ทำให้รู้ซึ้งว่า ทุกกระบวนการมากกว่าคำว่าพิถีพิถัน แม่เล็กย้ำกับพวกเราว่า ทุกอย่างต้องประณีตและรวดเร็ว ประณีต หมายถึง เรื่องความสะอาด ความสวยงาม ความสะดวก วัตถุดิบทุกอย่างโดยเฉพาะผักผลไม้ต้องแช่เบกกิ้งโซดา ล้างน้ำสะอาด การหั่นต้องให้พอดีคำ การจัดเรียงต้องหยิบจับสะดวก ดังนั้น ก่อนหั่นผักผลไม้ทุกครั้ง เราต้องถามแม่เล็กก่อนเสมอว่าต้องหั่นแบบไหน หากแม่ไม่ติดงานอื่นอยู่จะเดินมาหั่นให้ดูเป็นตัวอย่างก่อน แต่หากแม่ติดงานหน้าเตาอยู่ พวกเราก็ยกเขียงและผักไปให้แม่หั่นเป็นตัวอย่างที่หน้าเตา นักหั่นมือใหม่จึงจะมีชิ้นงานตัวอย่างวางไว้ที่หัวเขียง เพื่อเทียบเคียงขนาดตามคำสั่งอย่างเคร่งครัด แรก ๆ ก็หั่นได้ขนาดพอดี แต่พอเผลอใจลอย หรือคุยกัน ชิ้นงานก็จะผิดเพี้ยนไป เมื่อใดที่แม่เข้ามาเห็น แม่จะอุทานดัง “โอ้ยาวโพดดด..” นั่นแหละเราถึงดึงสติคืนกลับมา ส่วนความรวดเร็วนั้น คือต้องเสร็จทันในแต่ละมื้อ เมื่อถึงเวลาอาหาร ทุกอย่างต้องพร้อม ทั้งเรือนอาหารหญิง เรือนอาหารชาย อาหารของท่านอาจารย์ อาจารย์ผู้ช่วยสอนและพระสงฆ์ พวกเราจึงต้องทำงานแข่งกับเวลา และต้องจัดสรรหน้าที่ให้ลงตัว โดยมีแม่เล็กเป็นผู้บัญชาการ

ข้าพเจ้าถามแม่เล็กว่า งานครัวก็แสนจะยุ่ง หนำซ้ำยังต้องมาคอยดู คอยตอบคำถามพวกเราอีก แม่หงุดหงิดไหม แม่ตอบว่า “ไม่นะ เราก็คิดว่าที่เขาถามเพราะไม่รู้ ดีแล้วที่เขาถาม เพราะจะได้ไม่ทำผิด ที่แม่ใจเย็นแบบนี้ได้เพราะการฝึกจิต ฝึกคิดบวก การมีสติที่ดีก็ทำให้งานทุกอย่างผ่านไปด้วยดี” นี่คือทัศนะที่น่าชื่นชมของหัวหน้ากองหนุน

เมื่อเข้าสู่วันที่สาม ทุกอย่างก็ราบรื่นขึ้นเพราะทุกคนเริ่มรู้งาน การทำงานร่วมกันดีขึ้น คำถามน้อยลง บวกกับการได้ขึ้นไปภาวนาและฟังธรรมบนหอปฏิบัติ ซึ่งท่านอาจารย์ได้เมตตาย้ำอยู่ เนือง ๆ ว่า ต้องมีสติทุกอิริยาบถ และก่อนจะลงมือทำสิ่งใดต้องสั่งจิตทุกครั้ง การสั่งจิตก็คือการกำหนดจิตหรือเจริญสตินั่นเอง ท่านอาจารย์ใช้คำว่า “สั่ง” เพราะจะเพิ่มความหนักแน่นเจาะจงกว่า เพื่อที่จิตจะได้มีพลังไม่พลั้งเผลอให้กิเลสเข้าครอบงำ และการสั่งจิตนี้ ไม่ได้ใช้เฉพาะขณะภาวนาเท่านั้น สามารถนำมาใช้ได้ทุกโอกาส ใช้กับการงานทุกอย่าง เมื่อท่านอาจารย์เมตตาสอนเช่นนี้ แม้ทีมธรรมบริกรจะคุ้นเคยกันมากขึ้น แต่เราก็พูดคุยกันเท่าที่จำเป็น สั่งจิตให้ทำหน้าที่อย่างมีสติ การงานที่ออกมาก็เสร็จสมบูรณ์รวดเร็วขึ้น

อาจมีการสื่อสารที่ไม่เข้าใจกันบ้าง เพราะความแตกต่างของแต่ละคน แต่ก็ไม่ใช่ปัญหาเพราะเราต่างถอดวางสถานะทางโลกออกหมดแล้ว เหลือเพียงแต่สถานะศิษย์ท่านอาจารย์ ที่หมายมุ่งมาเพื่อสละแรงกายแรงใจ ตอบแทนพระคุณพ่อแม่ครูอาจารย์

สำหรับหน้าที่ดูแลท่านอาจารย์ เป็นหน้าที่ที่เรายินดีอย่างยิ่ง แต่ทุกคนค่อนข้างกังวลเพราะไม่มีประสบการณ์มาก่อน แม้จะซักซ้อมทำความเข้าใจในรายละเอียดจากศิษย์รุ่นพี่มาแล้ว แต่ก็ไม่วายกลัวผิดพลาด ด้วยความกังวลนั้นจึงส่งผลให้เกิดความประหม่า และมีข้อผิดพลาดบ้าง แต่ท่านอาจารย์ก็เมตตากับธรรมบริกรเหลือประมาณ และยังเมตตาให้กำลังใจว่า “เรามาสร้างบารมี ต้องอดทนเสียสละ อาจเกิดความพลั้งพลาดบ้าง แต่ไม่ใช่ความผิด ให้ตั้งใจ ให้เพียรสร้างบารมีนะ”

นอกจากกำลังใจจากท่านอาจารย์แล้ว อาจารย์ผู้ช่วยสอนทั้งสองท่านก็ให้กำลังใจอยู่เสมอ ทุกครั้งที่ธรรมบริกรนำอาหารไปส่ง อาจารย์โสภิตท่านจะให้พรกลับมาเสมอว่า “ผู้ให้พลังย่อมได้รับพลัง” ส่วนอาจารย์พิมนภาหรือที่พวกเราเรียกท่านว่า อาจารย์หม่าม้านั้นท่านให้พรว่า “ขอให้สมปรารถนาในสิ่งมุ่งหวัง” และเมื่อไปเก็บสำรับปิ่นโตกลับ บางวันจะมีแผ่นกระดาษเขียนข้อความกลับมา อาหารมื้อนั้นมีผลไม้เป็นส้มโอสีแดง ท่านเหลือส้มโอคืนมาให้พวกเราพร้อมกับเขียนโน้ตด้วยลายมือสุดอลังการมาว่า “ทานส้มโอแล้ว ขอให้ข้ามโอฆะได้ทุกคนนะจ๊ะ” คนรับปิ่นโตนำข้อความแปะที่ตู้เย็นให้ทุกคนได้อ่าน แล้วก็แจกจ่ายส้มโอกันทาน ทานไปก็ปลื้มปริ่มกล่าวคำสาธุ สาธุ กันถ้วนหน้า

ที่ข้าพเจ้าบรรยายมานี้ หาได้อยากอวดอ้างว่า ตนคือผู้ที่ได้ทำประโยชน์แก่สายธรรมไม่ การงานเพียงแค่นี้เทียบไม่ได้เลยกับคุณข้าวคุณน้ำ พระคุณความรักความเมตตาของท่านอาจารย์ที่มีต่อ เหล่าศิษย์ เพียงแต่ต้องการทบทวนในสิ่งที่ท่านอาจารย์เคยบอกกับศิษย์พี่ศิษย์น้องทั้งหลายว่า บุญบารมีเป็นสิ่งที่ต้องมีคู่กัน การจะเดินทางสู่จุดหมายในทางธรรมนั้นมุ่งแต่สร้างบุญอย่างเดียวไม่ได้ หากแต่ต้องสร้างบารมีควบคู่กันไปด้วย เมื่อใดที่บารมีเต็ม บุญหนุนนำ เมื่อนั้น ความมหัศจรรย์จะเกิดแก่จิต ไม่มีสิ่งใดจะมาฉุดรั้งได้อีก และการมาบำเพ็ญตนในหน้าที่ธรรมบริกรนั้น ถือเป็นบารมีสูงยิ่ง

การงานในขอบข่ายที่ข้าพเจ้าสาธยายมานั้น แม้เราไม่เคยทำมาก่อน ก็มิได้เป็นสิ่งที่ยากเย็นเกินเรียนรู้ และความรู้ที่ได้โดยเฉพาะกลเม็ดเคล็ดลับที่เรียกว่าเป็นเสน่ห์ปลายจวักในครัวนั้น เป็นสิ่งที่ไม่อาจหาได้จากที่ไหน ธรรมบริกรแม้จะเหน็ดเหนื่อยบ้างเพราะต้องทำงานแข่งกับเวลา แต่ก็เป็นความเหนื่อยที่อิ่มเอมเป็นสุข พวกเราต่างก็สัญญาว่า จะมาทำหน้าที่นี้อีกเมื่อมีโอกาส ภายใต้แนวคิดนักรบกองหนุน

“ตื่นก่อน นอนทีหลัง สร้างพลังบารมี”

ขอน้อมกราบขอบพระคุณท่านอาจารย์อัจฉราวดี วงศ์สกล เป็นอย่างสูง ที่มอบโอกาสอันพิเศษนี้ให้แก่ศิษย์ กราบขอบพระคุณอาจารย์โสภิต และอาจารย์พิมนภา สำหรับกำลังใจที่ยอดเยี่ยม

ขอบคุณแม่เล็กและพี่ ๆ น้อง ๆ ร่วมทีมทุกท่าน ที่แนะนำสั่งสอนช่วยเหลือกันอย่างจริงใจ

และสุดท้าย ขอบคุณเจ้านาย เพื่อนร่วมงาน ที่เอื้ออำนวยทำหน้าที่ทางโลกแทน ในระหว่างที่ข้าพเจ้ามา

สร้างบารมี

bottom of page