ประสบการณ์ทางธรรมของคุณศุภกฤต
“ข้าพเจ้าไม่เคยมีสภาวธรรมมหัศจรรย์ใด ๆ เลย”
อาจดูเป็นเรื่องน่าเบื่อและผิดแผกไปจากการปฏิบัติในสายวิชาที่ตีตรงและเรียกได้ว่าค่อนข้างโลดโผน แต่ก็น่าจะเป็นประสบการณ์ที่จะช่วยเป็นกำลังใจให้เหล่าผู้ปฏิบัติที่อาจจะเกิดความคาดหวังและอยากได้ความก้าวหน้า จนบางครั้งก็หลงลืมไปว่าสิ่งที่ต้องทำเพียงอย่างเดียวคือ เพียรพยายามสร้างเหตุที่ดีในทุกเวลาเท่านั้นเอง
ก่อนจะเจอกัลยาณมิตรที่ชี้ทางธรรมสายนี้ให้ ข้าพเจ้าเป็นปุถุชนทั่วไป เมาชีวิต ทำบุญตามกาล ทุกข์เพราะชีวิตไม่ได้เป็นอย่างที่อยากให้เป็น ขี้หงุดหงิดเพราะหลายอย่างบนโลกไม่ได้ดั่งใจ มาภาวนาสามคอร์สแรก แม้จะเรียกได้ว่า เสียแรงและกำลังของท่านอาจารย์ไปมาก ไม่ว่าจะด้วยวาสนาที่น้อย ทำให้ไม่สามารถเพ่ง ตรึง หรือรู้อะไรได้เลย มีแต่ความเจ็บ ปวด และทุกข์ ฟุ้งซ่านทั้งทางกายและใจ ออกจากคอร์สภาวนามาในช่วงนั้นก็ยังคง กิน ดื่ม เที่ยวอยู่เนือง ๆ แถมไม่มีวินัยในการปฏิบัติในช่วงเวลานอกคอร์ส เรียกได้ว่าหากมองย้อนไป ยังคงต้องกลับมาคิดว่ามีเพียง “ศรัทธา” ในตัวของท่านอาจารย์ล้วน ๆ เป็นตัวนำให้เรายังไปคอร์สอยู่ได้ปีละครั้ง
ศรัทธาอะไร ? ศรัทธาในการใช้ชีวิต ศรัทธาในการเทศน์ที่สามารถทำให้จิตตื่น คิดและพิจารณา ศรัทธาในการทำให้เหล่ากัลยาณมิตรหมู่มากสามารถเคร่งครัดในศีล ศรัทธาในความกตัญญูต่อพระบรมศาสดา ศรัทธาในการภาวนาแบบมีวินัยไม่ย่อหย่อน
ในวิธีการปฏิบัติในคอร์สแรก ๆ หาจุดสัมผัส ไม่เคยเจอ กระวนกระวาย พอเจอแล้วไม่ถึงนาทีก็หายไป นั่งภาวนาไป ไหลทุกข์อยู่เป็นวัน ๆ ในคอร์สคิดวนว่าจะมีใครหนอที่เป็นเหมือนเรา หรือเราเท่านั้นเองที่ใช้ไม่ได้ จิตปรุงแต่งมากมายถาโถมแบบที่คนภาวนาก้าวหน้าอย่างรวดเร็วถ้าได้อ่านคงหัวเราะว่า “เฮ้ย อะไรจะยากขนาดนั้น”
คำตอบง่ายของท่านอาจารย์ง่ายมาก และเชื่อได้ว่าไม่ใช่เฉพาะข้าพเจ้าที่เกิดปัญหานี้คนเดียว ท่านอาจารย์เทศน์ออกมาในช่วงเทศน์ก่อนนำภาวนาเพียงแค่ว่า “ในเมื่อสัมผัสอยู่ที่มือของเรา มันไม่มีทางที่จะหายไปได้ มองตามความเป็นจริงว่ามันก็อยู่ตรงนี้ จะหายไปได้อย่างไร กดให้มันแน่นขึ้น ให้สัมผัสมันชัดขึ้น”
ครับ มันก็เท่านั้นเอง เพียงแค่มองตามความเป็นจริง ไม่ชัดก็ยอมรับว่าไม่ชัด ไม่เห็นก็ยอมรับว่าไม่เห็น ไม่ต้องอยากชัด ไม่ต้องอยากเห็น ดูให้รู้เพียงแค่ว่า ถ้าวิธีถูกต้อง ผลจะผิดได้อย่างไร อีกครั้ง ในคอร์สภาวนาที่เป็นธรรมบริกรครั้งแรก ในช่วงสอบอารมณ์ท่านอาจารย์ได้เมตตาเทศน์ตีตรงมาที่จิตว่า “เราเข้ามาภาวนาก่อนในชาตินี้ก็จริงแต่ คนอื่นเค้าทำมากี่ภพ กี่ชาติแล้ว อย่ามองแต่ในปัจจุบัน ปัจจุบันให้เพียรทำเหตุให้ดี อย่าเทียบกับคนอื่น” เพียงเท่านี้ จิตที่เคยแข็งขืนดื้อด้านก็ได้สยบนอบน้อมลงมา ทั้ง ๆ ที่ทั้งหมดทั้งมวลที่ท่านอาจารย์เทศน์นั้นเป็นสิ่งที่เรารู้แก่จิตแก่ใจแต่ยังไม่ยอมน้อมรับ ยังพยศดื้อดึง เพราะจิตยังสอนจิตไม่ได้
ดังนั้นด้วยเหตุง่าย ๆ เพียงเท่านี้ เหล่าผู้ปฏิบัติทั้งหลายจึงจำเป็นต้องมีพ่อแม่ครูบาอาจารย์ และต้องมองให้เห็นตามจริงว่า แม้คนที่เก่งกว่าเรา ภาวนาดีกว่าเรา ก้าวหน้าทางธรรมมากกว่าเรา หากประมาทปรามาสคุณและความทุ่มเทเมตตาของครูบาอาจารย์แม้แต่นิดเดียวนั้น ความดีงามที่สั่งสมมากลับพลิกมาพังทลายได้ง่ายนิดเดียว
ผลและสิ่งที่ต้องเผชิญจากการภาวนา หากเราได้อ่านประสบการณ์ของเหล่ากัลยาณมิตรและหากเราได้มีศรัทธา เข้าใกล้ สดับฟัง สอบถามและปฏิบัติตามครูบาอาจารย์แล้ว เราก็จะสามารถสั่งสอนจิตตัวเองได้ในระดับหนึ่งและเห็นได้ว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งในระหว่างการปฏิบัติและใช้ชีวิตแบบมีวินัยแล้วจะเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นได้บ้าง เช่น มีสังขารของความโกรธ สังขารของความอาฆาตพยาบาท เกิดขึ้นได้เป็นเดือน ๆ จนหลายท่านอาจจะคิดว่า เราปฏิบัติผิดหรือเปล่า ทำไมสิ่งที่เกิดกับจิตใจมันมากขึ้น เมื่อเราได้อ่านได้สอบถาม ก็จะรู้ว่า สังขารมันปรากฎเพราะแรงต้านของกิเลสภายในที่พยายามให้เราออกจากทาง หรือ เพราะเมื่อจิตสะอาดขึ้นสิ่งที่สะสมอยู่ก็ปรากฎให้เราเห็นชัดขึ้นจากเดิมที่มันอยู่แต่เราไม่เห็นมัน สิ่งเหล่านี้ท่านอาจารย์ได้เคยสอน ย้ำสอนและผ่านมาเอง เราเป็นใคร เก่งขนาดไหน จะเก่งกว่าท่านอาจารย์ได้อย่างไรในทางสายนี้
เพียงแค่สร้างเหตุที่ดี และ ยอมรับผลอย่างเป็นกลาง บางทีมันก็เพียงเท่านั้นเอง
เมื่อข้าพเจ้าได้ภาวนาชำระกิเลสในจิตอย่างมีวินัย อาจจะขาดตกบกพร่องไปบ้างตามการใช้ชีวิต พยายามรักษาศีล พยายามละความติดเพลินในนันทิ และในช่วงที่ไม่ได้ภาวนาก็ต้องพยายามใช้สติมาให้อยู่กับปัจจุบัน หมั่นพิจารณาเหตุ ผล และปัจจัยตามสภาพการณ์ที่เกิดขึ้นรอบตัว ก็สามารถเห็น โดยไม่ต้องมี ไม่ต้องใช้อภิญญาใด ๆ ได้ว่า ชีวิตทั้งหลายทั้งมวลโดยส่วนใหญ่ของคนทั่วไปนั้นมีความทุกข์เพราะ การไม่มองเห็นตามความเป็นจริง เมื่อไม่เห็นตามความจริง ก็ไม่สามารถยอมรับความจริงได้ ทุกข์ทั้งหลายเพราะ ต้องการให้ทุกอย่างเป็นแบบที่ตัวเองอยากให้เป็น อยากให้เป็นโดยไม่พิจารณาถึงเหตุปัจจัย ไม่สร้างเหตุปัจจัย แต่เร่งรัดอยากได้ผลที่ดีตามใจของตัวเอง ไม่ได้มองตามที่มันเป็นว่า ทุกสิ่งอย่างที่ล้วนไม่ใช่ผลลัพธ์ตามที่ต้องการนั้นเป็นเพราะไม่มีเหตุปัจจัยที่สมควร
พอไม่ได้ดั่งใจก็ทุกข์ พอไม่ได้ผลลัพธ์ที่ตัวเองต้องการก็ตีโพยตีพาย พอไม่ได้สิ่งที่ต้องการก็โทษคนอื่น ธรรมะที่ข้าพเจ้าได้รับจากการภาวนา ที่ได้จากการอบรมสั่งสอนจากท่านอาจารย์ไม่ใช่แบบนี้
ท่านอาจารย์สอนให้พิจารณาตนเอง แก้ไขตนเอง ยอมรับในเหตุและปัจจัย เฝ้าเพียรสร้างเหตุที่ดีด้วยการรักษาศีลให้เคร่งครัด ให้เพียรภาวนาเพื่อให้เกิดปัญญาที่แท้ คือปัญญาที่จะพาจิตตนให้พ้นไป ปัญญาที่จะทำให้จิตเบื่อหน่ายคลายความทุกข์และยึดถือในตัวตน
เหล่านี้คือ ธรรมะอันเป็นพื้นฐาน เป็นความก้าวหน้าทางจิตใจที่ยิ่งใหญ่ที่ข้าพเจ้าได้รับจากการปฏิบัติเตโชวิปัสสนา ไม่มีเหตุการณ์ใดที่หวือหวา มีแต่ความเป็นจริงที่น่าหวาดหวั่นและชัดเจนขึ้นว่า หากเราเหลาะแหละหละหลวม การเกิดอันน่าเบื่อหน่ายในสังสารวัฏนี้ ก็จะดำเนินไปไม่จบสิ้นเท่านั้นเอง
#รชด #ภาวนา #สตปฏฐานส #พระอาจารยสมเดจพฒาจารยโต #รใหชด #เรองเลา #พระอาจารยสมเดจโต #ฆราวาส #ธรรมะ #ฝกสต #เพงดกาย #สมปชญญะ #สมาธ #ชำระจต #สต #นมตเตอน #ฝกสมปชญญะ #เตโชธาต #รตวทวพรอม #อาจารยอจฉราวดวงศสกล #ดจต #นอกวด #เพยรเผากเลส #ปฏบตธรรม #เผากเลส #วางเฉย #เปลยนชวต #ฆราวาสบรรลธรรม #สมเดจโต #อเบกขา #วปสสนา #เพง #ขณะจต #นพพาน #เพยร #ธรรมแท #เพงดจต #กรรมฐาน #หลดพน #สมเดจพฒาจารยโต #เตโช #สตสมปชญญะ #จตบรสทธ #เตโชวปสสนา #ประสบการณ #เพยรภาวนา