top of page

วังวนแห่งวัฏสงสาร




โลกทั้งใบนี้คือพลังงาน มีทั้งพลังงานที่มีความหยาบ คือมองเห็นได้ด้วยตา และละเอียดจนมองไม่เห็น แต่สามารถเห็นผลของพลังงานนั้นได้ เช่น พลังงานลม พลังงานถูกจำแนกย่อยออกตามคุณสมบัติมากมาย เช่น พลังงานความร้อน พลังงานนํ้า พลังงานจลน์ พลังงานแม่เหล็ก พลังงานแรงโน้มถ่วง ฯลฯ


ร่างกายของมนุษย์นั้นประกอบด้วยธาตุดิน 1 ส่วน ธาตุ นํ้า 3 ส่วน และยังมีส่วนที่เป็นจิตวิญญาณเป็นตัวขับเคลื่อนร่างกาย อันใดที่มีแรงผลักดันนั้นก็คือพลังงาน


ดังนั้น กล่าวได้ว่า มนุษย์ก็คือส่วนผสมของพลังงานดิน พลังงานนํ้า และพลังงานจิตวิญญาณ...


จิตเป็นพลังงานที่ทรงอานุภาพมาก มีกระบวนการทำงานที่มหัศจรรย์เหมือนชิปคอมพิวเตอร์ คือ สามารถกักเก็บความทรงจำและรับรู้ความรู้สึกนึกคิด ก็เกิดการปรุงแต่งทางอารมณ์ขึ้นมาตามสิ่งที่เข้ามากระทบกายและใจ เกิดเป็นความรู้สึกชอบ ไม่ชอบ หรือกลาง ๆ แล้วก็พัฒนาเป็นระดับของอารมณ์ คือ จากชอบ ก็กลายเป็นความลุ่มหลง จากไม่ชอบก็กลายเป็นความโกรธ หรือชิงชัง แล้วก็มีความโลภและอีกหลากหลายอารมณ์ตามมา จากอารมณ์นำไปสู่ความยึดมั่นถือมั่นในอารมณ์ แล้วกระแสที่หนักขึ้น

มีพลังมากขึ้นนี้ ก็ไปสะสมอยู่ในกระแสจิต ทำให้จิตหนักขึ้นเรื่อย ๆ...


บ่อยครั้งที่บุคคลไม่ปรุงแค่ความคิดหรือมโนกรรมที่คิดวนอยู่ในหัว แต่พัฒนาไปสู่กายกรรมและวจีกรรมด้วย ทำให้การกระทำหรือกรรมมีพลังและนํ้าหนักมากยิ่งขึ้น กรรมนั้นก็ไปเพิ่มมวลความหนาแน่นในกระแสจิต เช่น พอโกรธแล้วด่าออกไป แม้กรรมกริยานั้นจบไปแล้ว แต่จิตยังคงสะสมคลื่นอารมณ์นั้นไว้ในจิตไร้สำนึก ซึ่งทางธรรมเรียกว่าจิตสังขาร พอร่างกายเสื่อมจนถึงแก่ความตาย จิตก็ถอนออกจากกายนั้น คืนไปอยู่ในรูปของพลังงานละเอียด โดยจิตก็แบกผลของกรรม และการปรุงแต่งอารมณ์ไว้ด้วย

ทำให้จิตหนัก ...


ตามกฎของแรงโน้มถ่วง สิ่งใดที่หนักย่อมถูกดูดลงสู่เบื้องล่าง ก็ทำให้จิตติดอยู่ในคลื่นพลังงานของจักรวาลนั้น ๆ เมื่อจิตกลายเป็นพลังงานหนัก ก็เลยทำให้ต้องวนกลับมาเวียนว่ายตายเกิดในวัฏจักรอีก โดยจะมาเกิดในภพภูมิหรือมีการปฏิสนธิแปรสภาพเช่นใด ก็ขึ้นอยู่กับคุณลักษณะของสิ่งที่สะสมอยู่ในจิต ตามหลักของเหตุและปัจจัย บุคคลหว่านเมล็ดพันธุ์ไว้เช่นใด ย่อมได้รับผลเช่นนั้น ดังนั้นจิตก่อเหตุและสะสมสิ่งใดไว้ เมื่อถึงเวลาที่สิ่งที่สะสมไว้บ่มเพาะผลเต็มที่ ก็จะแสดงเป็นผลอย่างใดอย่างหนึ่ง ขึ้นชื่อว่าพลังงานนั้น ไม่มีคำว่าสูญ มีแต่แปรสภาพ การเวียนว่ายตายเกิดจึงเป็นการแปรสภาพของพลังงานที่มีผลแห่งการกระทำเป็นเหตุและ ปัจจัยผลักดันให้คุณภาพหรือคุณลักษณะของพลังงานนั้น ๆ เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นหรือแย่ลง ...


ในทางธรรมนั้น พระพุทธองค์จึงทรงสอนให้ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากความเศร้าหมอง คือความโลภ โกรธ หลง ที่สะสมอยู่ในจิต และถอนความยึดมั่นถือมั่นในอารมณ์ เพราะแม้จะชำระร่างกายภายนอกให้สะอาดเพียงใด ก็ไม่สามารถพ้นไปจากวงจรแห่งการเวียนว่ายตายเกิดได้ ต้องชำระลงมาที่ใจ หากใจสะอาดบริสุทธิ์จากกระแสนั้น นํ้าหนักจิตก็จะเบา อยู่ในสภาพไร้นํ้าหนัก ก็พ้นจากพลังงานแรงโน้มถ่วง ไม่ต้องหวนกลับมาว่ายวนในกระแสพลังงานของโลกหรือวัฏสงสารอีกเลย ...


วัฏ แปลว่า วน สงสาร แปลว่า สภาพที่น่าสลดสังเวช




หากต้องการพ้นไปจากสภาพที่น่าสังเวช ต้องเริ่มจากการ รักษาศีลคือการไม่ทำบาปทั้งปวง

การทำความดีให้ถึงพร้อม และการชำระจิตให้บริสุทธิ์ นี่คือคำสอนของพระบรมศาสดา



อาจารย์อัจฉราวดี วงศ์สกล


คัดส่วนหนึ่งจาก คอลัมน์ ข้ามห้วงมหรรณพ นิตยสารข้ามห้วงมหรรณพ ฉบับที่ 37

ดู 33 ครั้ง
bottom of page