top of page

เจริญงอกงามตามวิถีธรรม

ประสบการณ์ภาวนาคุณพัชรา

ข้าพเจ้าชื่อพัชรา ภูมิลำเนาอยู่จังหวัดกรุงเทพฯ ทำงานเป็นผู้จัดการส่วนแผนกส่งออกบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ได้รับโอกาสเป็นศิษย์ท่านอาจารย์อัจฉราวดี วงศ์สกล ครั้งแรกเมื่อเดือนสิงหาคม 2558

ครอบครัวข้าพเจ้าขณะนี้มีทั้งหมด 4 คน คือ คุณพ่อ คุณแม่ ข้าพเจ้าและน้องชาย ข้าพเจ้าเกิดในครอบครัวที่มีใจใฝ่ในบุญ ตั้งแต่จำความได้ เห็นคุณแม่ทำบุญอย่างสม่ำเสมอ บุญใด ๆ ในพระศาสนาไม่เคยขาด อีกทั้งยังพาข้าพเจ้าเข้าวัด สวดมนต์ นั่งสมาธิก่อนนอนทุกวัน ใส่บาตรทุกเช้าก่อนไปโรงเรียน ทำให้ข้าพเจ้าซึมซับการหมั่นกระทำกุศลกรรมในวิถีชีวิตปกติโดยตลอด ครั้งหนึ่งสมัยมัธยมต้น ข้าพเจ้าประสบอุบัติเหตุตกจากรถเมล์ ขณะนั้นนึกในใจว่า นี่เราจะตายแล้วหรือ ยังไม่ได้สร้างความดีเลย เป็นเด็กว่านอนสอนง่าย เมื่อใดที่พูดถึงพระคุณ บิดา มารดา หรือ กล่าวบทสวดปาเจราในวันไหว้ครู จะร้องไห้ด้วยความสำนึกในบุญคุณ

สิ่งหนึ่งที่รู้สึกตั้งแต่สมัยเรียนจนกระทั่งทำงานคือ เวลาไปงานรื่นเริงใด ๆไม่รู้สึกสนิทใจกับบรรยากาศเช่นนั้น กลับชอบอยู่เงียบ ๆ เพราะทำให้มีสมาธิ ส่งผลให้คิดอ่านการงานใด ๆ ก็เข้าใจได้ชัดและอิ่มเอมใจเมื่อพบคำตอบ อย่างไรก็ตาม ลึกลงไปภายในจิต ยังรู้สึกว่าชีวิตไม่มีจุดหมายและว่างเปล่า รู้สึกถึงความทุกข์ที่แฝงอยู่ คือ ต้องมาทำในสิ่งต่าง ๆ ที่ไม่ใช่ความต้องการที่จิตตามหา แต่ไม่สามารถบังคับจิตใจตนเองได้อย่างแท้จริง

ข้าพเจ้าเรียนจบด้านวิทยาศาสตร์ (ปริญญาตรี สาขาชีววิทยา, ปริญญาโท สาขาการจัดการสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยมหิดล) ชีวิตในมหาวิทยาลัยที่ต้องปรับตัวในการเรียน และทำกิจกรรมต่าง ๆ เมื่อไม่อาจปรับสมดุลทำให้เริ่มห่างเหินจากการสวดมนต์ นั่งสมาธิ ทำบุญกุศล หลังเรียนจบก็ไขว่คว้าหาความสำเร็จทางโลกเหมือนคนทั่วไป โดยทำงานด้านนำเข้า-ส่งออกเพราะชอบทำงานที่ใช้ภาษาอังกฤษ และต้องการไปใช้ชีวิตในต่างประเทศ ในที่สุดก็ได้ไปอยู่แบบชั่วคราว เนื่องเพราะกฎเกณฑ์บางประการ ทำให้ข้าพเจ้าเสียใจอย่างมากและล้มเลิกความตั้งใจที่จะไปใช้ชีวิตในต่างประเทศลงในที่สุด

ความทุกข์จากจิตที่ดิ้นรนทะยานอยาก แล้วผิดหวังคับแค้นใจนั้น เกิดเป็นพลังให้กลับมาศึกษาธรรมะอย่างจริงจังจากการอ่าน การฟัง โดยเน้นเฉพาะสายพระป่าที่มีแนวปฏิบัติเข้าถึงมรรคผลนิพพาน ฆราวาสที่ประสบความสำเร็จทางโลกแต่กลับทิ้งชีวิตแบบนั้นมาปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานอย่างจริงจัง ข้าพเจ้าเคยอ่านหนังสือชื่อ “จิตที่พ้นจากทุกข์” ของลุงหวีด บัวเผื่อน ซึ่งเป็นฆราวาสผู้มีภูมิธรรมท่านหนึ่ง ตั้งจิตปรารถนาให้ตนเป็นเช่นนั้น แต่ติดอยู่ที่ทั้งบรรพชิตและฆราวาสผู้บรรลุธรรมที่ข้าพเจ้ารู้จักได้ละสังขารไปหมดแล้ว ยามที่ปฏิบัติด้วยตนเอง เมื่อติดขัดสิ่งใดในการปฏิบัติก็ไม่ทราบว่าจะไปสอบถามผู้ใด อย่างไรก็ดี ข้าพเจ้ายังคงตั้งใจนั่งสมาธิบ่อยขึ้น

รู้จักเตโชวิปัสสนา

เดือนมกราคม พ.ศ. 2558 ข้าพเจ้ารู้จักเตโชวิปัสสนาจากการอ่านนิตยสารซีเคร็ต “คอลัมน์ แนะนำสถานที่ปฏิบัติธรรม” หลังอ่านจบ เกิดความศรัทธาในเทคนิควิธีนี้อย่างมาก เพราะเป็นทางลัด ตัด ตรง ตั้งใจว่าถ้าได้วันลาพักร้อนในปี 2559 จะมาสมัครทันที ด้วยธรรมะจัดสรรทำให้ได้มาปฏิบัติเร็วขึ้น เมื่อมีเหตุให้ออกจากงาน ในวันที่ 30 มิ.ย. 2558 ข้าพเจ้าไม่รอช้า 1 ก.ค. 2558 จึงส่งใบสมัครทันที ข้าพเจ้าไม่เคยเข้าคอร์สปฏิบัติธรรมค้างคืนที่ไหนมาก่อน เพียงแต่เคยฝึกนั่งสมาธิแบบสมถะจากวัดที่คุณแม่พาไปเท่านั้น

คอร์สแรก เดือนสิงหาคม 2558 ระหว่างภาวนามีแต่เวทนาทั่วตัว ฟุ้งซ่าน จิตดิ้นทุรนทุราย อยากจะถอนภาวนาอยู่ตลอดเวลา แต่พยายามปฏิบัติให้ครบตามที่กำหนด ได้สัมผัสสิ่งต่าง ๆในขณะปฏิบัติ พร้อมกันนี้ ข้าพเจ้าได้รับความเมตตาอย่างสูงยิ่งจากท่านอาจารย์ ซึ่งได้กรุณาชี้แนะตลอดการฝึก ท่านแนะนำกระทั่งว่าจิตที่เกิดธรรมแท้จริงมีลักษณะเป็นธรรมสั้น ๆ ไม่ต้องตีความ

จบคอร์สแรก รู้แล้วว่ามาถูกทาง เพราะท่านอาจารย์สอนความจริงระดับสูง เป็นการฟังจากจิตสู่จิต โดยไม่ปรุงแต่ง ทำให้จิตตื่น จนร้องไห้หลายครั้ง เตโชวิปัสสนากรรมฐานมีเทคนิควิธีที่ลัด ตัด ตรง เผาทำลายกองกิเลสมหาศาลโดยปฏิบัติ ให้รักษาการ เพ่ง ตรึง รู้ที่จุดสัมผัสเท่านั้น ในชีวิตไม่เคยพบเจอที่ไหนที่สอนถึงจิตถึงใจเน้นการปฏิบัติอย่างจริงจังเช่นนี้ จึงซื้อหนังสือเตโชวิปัสสนาทุกเล่มกลับไปอ่าน

เมื่อปฏิบัติเองที่บ้าน

ขณะภาวนาถูกนิวรณ์ 5 ครอบงำบ่อยครั้ง นิวรณ์ 5 จะสลับผลัดเปลี่ยนกันมาขวางไม่ได้ขาด โดยเฉพาะ พยาบาท อุทธัจจกุกกุจจะ กามฉันทะ ส่วนถีนมิทธะ จะมาเมื่อ 3 นิวรณ์แรกหายไป ส่วนวิจิกิจฉา ไม่ค่อยปรากฏ หลายครั้งเกิดเวทนา แต่จิตอ่อนแอไม่มีกำลังฝืน เข้าใจในเรื่องเหตุและผลมากขึ้น

เวทนาที่เกิดกับกายเนื้อมีปรากฏหลายแบบ พร้อมด้วย อุปสรรคต่าง ๆ ในชีวิต เมื่อพิจารณาทบทวนเหตุการณ์ที่ผ่านมา ให้เกิดความเข้าใจว่าสิ่งใด ๆ ล้วนเกิดจากเหตุที่เราเป็นผู้กระทำทั้งสิ้น

เข้าคอร์สอีกครั้งเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2560 วันที่ 2 ท่านอาจารย์เมตตาตักเตือนผู้เข้ารับการอบรมให้ตระหนักถึงการมีวินัยภาวนาด้วยตนเอง มิใช่หวังเพียงจะมารับความรู้จากครูอาจารย์ในช่วงระยะที่เข้าอบรมเท่านั้น ซึ่งแสดงถึงไม่เอาจริงเอาจัง คืนนั้น ข้าพเจ้านอนคิดทบทวน ครูบาอาจารย์ท่านดุว่า แสดงว่าท่านรัก เป็นห่วง อยากให้ได้ดี ซึ่งหาได้ยากยิ่งในปัจจุบัน เพราะมีแต่จะเอาใจผู้เรียนเพื่อลาภ สักการะ คิดดังนั้น จึงตั้งใจจะปฏิบัติเต็มที่ โดยไม่คาดหวังถึงผลใด ๆ ได้รับความเมตตาให้สติ

วันที่ 3 คอร์สนี้ ข้าพเจ้าตั้งใจจะมาเรียนถามท่านอาจารย์เรื่องหนึ่งที่ไม่เกี่ยวกับการภาวนา จึงคิดวนแต่เรื่องนี้ขณะปฏิบัติ เมื่อมีโอกาสขณะเข้าไปใกล้เพื่อรับคำชี้แนะ ท่านอาจารย์ถามด้วยน้ำเสียงเข้มว่า สภาวธรรมเป็นอย่างไรคะ ข้าพเจ้ากลับเรียนถามท่านในเรื่องที่เตรียมมาที่ไม่เกี่ยวกับการภาวนา ท่านจึงว่า ถ้าจะถามเรื่องอื่นให้ถามหลังคอร์ส อย่าส่งจิตออกนอก เพราะเมื่อใดที่จิตส่งออก จะมีกิเลสแฝงเข้ามา ทำให้ได้สติขึ้นมา กลับไปตั้งใจใหม่ (ตระหนักแล้วว่า เผลอสติเมื่อใด ไม่เป็นผลดีกับจิต) เช้าแห่งการภาวนาวันที่ 4 ท่านอาจารย์ ถามด้วยน้ำเสียงอ่อนโยนว่า มีผู้รู้มาสอนธรรมไหม จึงเรียนท่านอาจารย์ถึงธรรมที่เกิดในจิต พลางร้องไห้ไป ใจสั่น เสียงสั่น ท่านอาจารย์เมตตาสอนว่า “นี่แหละค่ะ เมื่อเผากิเลสได้เบาบางลง จะมีผู้รู้มาสอน จิตจะมีความอ่อนโยน” จึงเรียนท่านเพิ่มเติมว่า ขณะฟังคำว่า “พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ, ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ, สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ” แล้วร้องไห้ทุกครั้ง รู้สึกถึงเสียงธรรมบรรยายจากท่านอาจารย์กระแทกเข้ามาในจิต โดยไม่ปรุงแต่ง ทำให้ร้องไห้ ท่านให้กำลังใจว่า “ดีแล้ว ให้เพียรต่อไป”

บ่ายวันถัดมา ท่านอาจารย์ถามด้วยน้ำเสียงอ่อนโยนขณะที่เข้ารับคำชี้แนะว่า สภาวธรรมเป็นอย่างไร ได้เรียนท่านว่า ขณะปฏิบัติอยู่ที่เรือนนอน ระลึกถึงครูสมัยมัธยมต้น 2 ท่านที่เคยช่วยเหลือในเรื่องการเรียนแล้วร้องไห้สะอื้นอย่างหนัก ท่านอาจารย์เมตตาสอนว่านี่คือลักษณะจิตที่อ่อนโยนขึ้นจากการชำระกิเลสให้เบาบาง ให้เพียรต่อไป

พบความเปลี่ยนแปลงของจิตหลังจบคอร์สที่สอง

ยังคงถูกนิวรณ์ 5 ครอบงำ หลายครั้งก็ถูกขวางด้วยเวทนาตามด้วยนิมิตอีกหลายแบบอันนับเป็นปัจจัตตัง ที่จะขอยกมาเห็นจะเป็นจิตซึ่งเกิดความเบื่อหน่ายในสิ่งต่าง ๆ และความสำนึกในพระคุณท่านอาจารย์อย่างสุดซึ้ง จำได้ว่าในวันแรกของการสวดมนต์เพื่อท่านอาจารย์ ข้าพเจ้าร้องไห้สะอื้นจนต้องหยุดสวด ระลึกว่าหากไม่มีท่านคงไม่พบผู้ชี้ทางที่เราจะเข้าใจโดยง่าย นอกจากนี้ จิตยังเกิดความเข้าใจถึงจิตกตัญญูอย่างมากมาย ต่อเมื่อรับการกระทบจากเรื่องราวต่าง ๆ ในชีวิตจึงมีสภาพหยาบกระด้างจากเดิม

วันหนึ่งหลังภาวนาแล้ว จิตเกิดความรู้สึกเสียดายราวกับว่า ตนอาจจะไม่มีโอกาสได้สร้างความดีอีกแล้ว จึงไปอธิษฐานขอสร้างความดีอย่างเต็มที่ในชาตินี้ การตั้งจิตอธิษฐานคือ ข้าพเจ้าจะมีจิตกตัญญู หนักแน่นมั่นคง และขอสัญญาว่าจะทำหน้าที่ในฐานะศิษย์คนหนึ่งที่จะพึงตอบแทนคุณท่านอาจารย์อย่างถึงที่สุด นี้คือคำสัตย์ที่ให้ไว้พร้อมน้ำตา อาจดูเหมือนเป็นคนอ่อนแอ แต่เป็นความเปลี่ยนแปลงของจิตที่ปรากฏและสังเกตได้ แม้ขณะกล่าวอุทิศบุญจากการภาวนาถวายพระคุณเจ้าสัญชัยเนื่องในวันคล้ายวันเกิด ก็ยังร้องไห้เพราะจิตเกิดปีติอย่างยิ่ง

ยิ่งนานวันยิ่งซาบซึ้งในความเมตตาที่ท่านอาจารย์มอบให้ เมื่อระลึกถึงภาพท่านอาจารย์เมื่อยามท่านกล่าวสอนศิษย์ด้วยน้ำเสียงแห่งความเมตตาแล้ว พลันน้ำตาก็รินด้วยปีติในความเมตตาที่ท่านมีให้อย่างไม่มีประมาณ สิ่งนี้ส่งผลให้เกิดความมุ่งมั่นที่จะรักษาวินัยในการภาวนาและมั่นใจในจุดหมายในทางธรรมยิ่งขึ้น เมล็ดพันธุ์แห่งธรรมที่ท่านอาจารย์ช่วยบ่มเพาะนั้นเจริญขึ้นในจิตนี้ตามลำดับ ขณะภาวนาปรากฏแต่คำว่า “จิตกตัญญู” จึงตั้งจิตว่า “ขอตอบแทนคุณพระบรมศาสดา ท่านอาจารย์อัจฉราวดี” นี่เป็นสิ่งที่จิตต้องการทำมากที่สุด เพราะซาบซึ้งที่ท่านอาจารย์เมตตาสั่งสอนชี้แนะหนทางแห่งธรรมที่ตามหามานาน อีกประการหนึ่งที่เห็นชัดเจนคือ หลังจากถอนภาวนาแทบทุกครั้ง ข้าพเจ้าจะเกิดปีติขนลุกซู่ตั้งแต่ศีรษะ (ขนหัวลุก) ใบหน้า แขนทั้งสองข้าง ขา ปีตินั้นจะมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับความจดจ่อตั้งมั่นที่จุดสัมผัสในขณะปฏิบัติ

จิตที่พัฒนาจากการภาวนาอย่างมีวินัย

1. จิตต้องการละบาปอกุศลอย่างจริงจัง และแก้ไขสิ่งที่ผิด 2. จิต ต้องการตอบแทนคุณพระบรมศาสดา พ่อแม่ ครูบาอาจารย์ ท่านอาจารย์อัจฉราวดี วงศ์สกล และสายธรรม โดยการปฏิบัติตามคำสอน (รักษาศีล 5 ให้บริสุทธิ์ ภาวนาอย่างมีวินัย หนักแน่น กตัญญู ฝึกความรู้ชัดในทุกอิริยาบถ ฝึกไม่ติดใจและไม่ติดค้างใจ) ต้องการตอบแทนคุณแผ่นดิน 3. จิตต้องการชำระสิ่งสกปรกให้สะอาดทั้งกาย ใจ ข้าวของเครื่องใช้รอบตัว เริ่มจากโต๊ะที่ทำงาน ของใช้ในบ้านที่ไม่ใช้แล้วเอาไปบริจาค เหลือแต่สิ่งที่จำเป็นต้องใช้ หรือเผื่อใช้บ้างเท่านั้น รวมถึงลบข้อมูล, อีเมลที่ไม่ใช้แล้วอย่างสม่ำเสมอ จิตต้องการจัดสิ่งรอบตัวให้มีระเบียบ เป็นระบบ ทำแล้วรู้สึกเบากาย เบาใจอย่างมาก 4. จิตต้องการแต่สิ่งที่เป็นแก่นสารเท่านั้น เช่น หนังสือธรรมะ จะรวบรวมเฉพาะที่เน้นการปฏิบัติ พระเครื่องที่บ้านได้มาจัดไว้เป็นหมวดหมู่ รอผู้ที่ต้องการมารับไป ไม่สะสมอีก 5. ตั้งจิตมั่นว่า หากข้าพเจ้าไม่มีวินัยในการภาวนา จะไม่ไปเข้าคอร์สอบรมให้เสียเวลาท่านอาจารย์เด็ดขาด 6. รู้สึกกายเบา เวทนาในบริเวณต่าง ๆ เบาบางลงมาก 7. จิตไม่ซัดส่ายทุรนทุราย จิตตั้งมั่นนานขึ้น 8. ขณะภาวนาจะพบคำตอบมากมายในเรื่องที่สงสัย ความคิดอ่านคมชัดมาก จนจดแทบไม่ทันหลังถอนภาวนา เหมือนดั่งคำที่ท่านอาจารย์เคยสอนไว้ว่า “ระหว่างภาวนาเผากิเลสไป จิตเดิมใสสะอาดขึ้นทำให้สมองโปร่งขึ้นด้วย เพราะจิตเชื่อมกาย ทำให้คิดการงานใดได้เที่ยงตรง”

รู้จักจัดระเบียบการอุทิศบุญหลังจากภาวนาที่บ้าน

ข้าพเจ้าจะแบ่งการอุทิศบุญหลังจากภาวนาที่บ้านตามวันดังนี้ จันทร์ : อุทิศบุญให้ตนเอง อังคาร : อุทิศบุญให้บรรพบุรุษ ญาติ มิตรสหายที่ล่วงลับ พุธ : อุทิศบุญให้พระบรมศาสดาทุกพระองค์ พฤหัสฯ : อุทิศบุญให้พ่อแม่ครูบาอาจารย์ทุกชาติภพ สมเด็จพระพุฒาจารย์โต พรหมรังสี ท่านอาจารย์อัจฉราวดี วงศ์สกล ศุกร์ : อุทิศบุญให้เจ้ากรรมนายเวร เสาร์-อาทิตย์ : ภาวนาเพื่อสายธรรม หากมีสวดภาวนาเพิ่มเป็นกรณีพิเศษจะแบ่งชั่วโมงการภาวนาออกเป็น 2 ส่วน หรือชดเชยตารางปกติในภายหลัง

ข้าพเจ้าได้รับโอกาสให้เข้าอบรมระหว่างวันที่ 26 พ.ย.-2 ธ.ค. 2561 ซึ่งเป็นครั้งที่สาม ข้าพเจ้าจะปฏิบัติเต็มที่สมกับโอกาสที่ได้รับ

สุดท้ายนี้ ข้าพเจ้าขอน้อมกราบคุณพระศรีรัตนตรัย พ่อแม่ครูบาอาจารย์ทุกชาติภพ กำลังบุญวาสนาทั้งหมดที่ข้าพเจ้าได้เคยสั่งสมมา และเหตุปัจจัยใด ๆ ที่ทำให้ข้าพเจ้าได้รับโอกาสมาเป็นศิษย์ท่านอาจารย์อัจฉราวดี วงศ์สกล ในภพชาตินี้ โอกาสที่พบกับอิสรภาพจากสังสารวัฏชั่วนิรันดร…

#รชด #ภาวนา #สตปฏฐานส #พระอาจารยสมเดจพฒาจารยโต #รใหชด #เรองเลา #พระอาจารยสมเดจโต #ฆราวาส #ธรรมะ #ฝกสต #เพงดกาย #สมปชญญะ #สมาธ #ชำระจต #สต #นมตเตอน #ฝกสมปชญญะ #เตโชธาต #รตวทวพรอม #อาจารยอจฉราวดวงศสกล #ดจต #นอกวด #เพยรเผากเลส #ปฏบตธรรม #เผากเลส #วางเฉย #ฆราวาสบรรลธรรม #สมเดจโต #อเบกขา #วปสสนา #เพง #ขณะจต #นพพาน #เพยร #ธรรมแท #เพงดจต #กรรมฐาน #หลดพน #สมเดจพฒาจารยโต #เตโช #สตสมปชญญะ #จตบรสทธ #เตโชวปสสนา #ประสบการณ #เพยรภาวนา

bottom of page