อาจารย์อัจฉราวดี วงศ์สกล

ชาวพุทธกับการปฏิบัติธรรม มักหนีไม่พ้นเพราะกลัววิบากกรรม กับการภาวนาเพื่อสะสมบุญกุศล แม้ว่าไม่มีใครหนีกรรมได้พ้น แต่การประกอบกุศลกรรมที่มีน้ำหนักเพียงพอ ก็สามารถช่วยทอนกระแสวิบากให้เบาบางลงได้ หาใช่ว่ากรรมจะหมดไปเสียสิ้น
กรรมนั้นส่งผลสองลักษณะ หนึ่ง ส่งผลตามวิถีวิบาก เราส่งกระแสใดออกไป ย่อมได้รับสิ่งนั้นกลับคืน อีกประการคือ ส่งผลในแบบมีเจ้ากรรมนายเวร คือเมื่อทำกรรมกับผู้ใด และผู้ถูกกระทำมีจิตติดข้อง ย่อมเกิดเป็นการตามชำระหนี้ กรรมที่ไม่มีเจ้ากรรมนายเวร เช่น กรรมที่กระทำต่อพระพุทธเจ้า เรื่อยไปจนถึงพระอรหันตเจ้าและผู้ทรงธรรมที่เปี่ยมด้วยความเมตตากรุณา เพราะจิตที่หลุดพ้นแล้วย่อมไม่มีจิตจองเวร แต่บุคคลผู้ทำกรรมยังต้องรับอกุศลวิบากหนัก เพราะเป็นส่วนของวิถีวิบาก
กรรมหนักบางอย่าง หากบุคคลนั้นพอมีบุญหนุนอยู่บ้าง ก็มักมีนิมิตหรือฝันมาเตือน เพื่อให้มีโอกาสแก้ไขลดทอนกระแสวิบากนั้น แต่กรรมตัดรอนมักไม่เป็นเช่นนั้น วิบากที่เป็นกรรมตัดรอนหรืออุปฆาตกกรรม เป็นกรรมที่มีหน้าที่ตัดกรรมอื่น ๆ ให้สิ้นลง ซึ่งมีทั้งที่ตัดรอนจนถึงแก่ความตาย และตัดรอนให้หมดโอกาสได้รับความเจริญทางโลก เช่นกำลังจะได้ลาภหรือ ได้รับผลสำเร็จจากกิจการงาน จู่ ๆ ก็มีเหตุมาตัดทอนหนทางนั้นเสียในแบบที่คิดไม่ถึง
คนเรามักประมาทในการส่งผลของกรรม จึงหลงใช้ชีวิตอยู่กับความเพลิดเพลินและการวิ่งคว้าเป้าหมาย โดยไม่ได้ทำกุศลกรรมให้ถึงพร้อม ให้สมกับการได้ความเป็นมนุษย์ เมื่อจะทำบุญแต่ก็ไม่หยุดทำบาป แม้แต่ศีล 5 ก็รักษาไม่ได้ ก็สะสมกรรมต่อไปไม่จบสิ้น บุญที่ไม่ได้ทำด้วยศรัทธาและใจที่เสียสละ ไม่ว่าใครจะบรรยายสรรพคุณอานิสงส์แห่งบุญอย่างไร ก็จะไม่บังเกิดอานิสงส์ระดับนั้น หากทำด้วยความโลภในบุญ หากเราต้องตาย ใครบ้างที่จะเดือดร้อนกับการตายของเรา พ่อแม่ ครอบครัว สามี ภรรยา ลูก เราจะยังความเดือดร้อนมาสู่เขา หรือเราจะเป็นผู้พร้อมกับการตายทุกเมื่อโดยมีแผนรองรับทุกอย่าง
แม้จะหนีกรรมอื่นใด หรือกรรมตัดรอนไม่พ้น แต่หากเราใช้ชีวิตที่ยังเหลืออยู่ ทำแต่กุศลกรรม คิดดี ทำดี หยุดทำบาป และทำความดีให้ยิ่งขึ้นในระดับการเจริญภาวนา แม้เมื่อกรรมตัดรอนมาถึง ชีวิตนี้ก็ไม่สูญเปล่า เพราะเมื่อเสวยอกุศลวิบากไปแล้ว ต่อไปก็จะเป็นการเสวยกุศลวิบาก ที่ได้เร่งสั่งสมไว้
ที่มา : เพจนิตยสารข้ามห้วงมหรรณพ วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2561