อาจารย์อัจฉราวดี วงศ์สกล

คนส่วนมากใช้ชีวิตอยู่บนพื้นฐานของคำนี้ “มาตรฐาน”
คำ ๆ นี้ มีความหมายไปถึงการยึดถือคุณภาพของทุกสิ่งในโลก ไม่ว่าจะเป็นสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิต ตามหลักการทั่ว ๆ ไปหากเป็นสิ่งมีชีวิต ในเชิงศีลธรรมจรรยา กฎมาตรฐานคือ ศีลห้า สำหรับสิ่งไม่มีชีวิตก็หมายถึงคุณภาพขั้นพื้นฐานที่ไม่เป็นพิษเป็นภัย ไม่ว่าจะเป็นน้ำ ยา อาหารในการดำรงชีพและทำกิจการงานใดก็มีระดับมาตรฐานทั้งนั้น คือ ซื่อสัตย์ ขยัน ไม่เกียจคร้าน ทำงานตามหน้าที่ของตน
คำว่า มาตรฐาน มีความหมายในเชิงว่า หากมีคุณภาพที่ต่ำกว่านี้จะส่งผลร้าย ไม่ได้หมายความว่าให้ยึด “มาตรฐาน” เป็นกรอบขวางกั้นตัวเองให้หยุดอยู่ที่ระดับนี้ มนุษย์ถูกหลอกด้วยคำว่า “มาตรฐาน” คนที่หยุดตัวเองอยู่ที่คำ ๆ นี้ จะเจริญยิ่งไม่ได้ จะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้แก่ตนและแก่โลกไม่ได้ เพราะมัวแต่คิดว่า….ก็มันเป็นมาตรฐาน
คำว่า “มาตรฐาน” เป็นการจำกัดศักยภาพทางการกระทำและความคิด
ในทางธรรม หากยึดหลักมาตรฐานความเป็นมนุษย์ คนจะหยุดตนแค่รักษาศีลให้บริสุทธิ์ แต่จะไม่ก้าวมาถึงการบำเพ็ญเพียรวิปัสสนากรรมฐานอย่างยิ่งให้หลุดพ้น จะยอมรับวงจรของวัฏสงสาร ยอมรับว่าเกิดมาก็ต้องตาย ต้องทำงาน ต้องหาเงิน ต้องแต่งงาน ถึงเวลาหนึ่งก็พักผ่อนประจำสัปดาห์ ประจำปี พาครอบครัวไปเที่ยว พักผ่อนชั่วครู่ แล้วก็แสวงหาความมั่งคั่ง ความสำเร็จให้แก่ตนและครอบครัว เป็นการวนอยู่ในวิถีเดิม ๆ เช่นนี้ เห็นอะไรที่เขาทำกันว่าดี ก็ทำ ๆ ตามกัน ไหลไปตามกระแส ฝืนไม่ได้ ไม่รู้คิดพิจารณาอย่างแยบยลถึงผลเสียตามมา และไม่ฉีกตนออกจากกฎมาตรฐาน
ในระดับความสัมพันธ์ ผู้คนจะถูกจองจำต่อกันด้วยคำว่า “ของฉัน” ลูกของฉัน ภรรยาของฉัน สามีของฉัน และต้องใช้ชีวิตตามกรอบอย่างไม่มีข้อแม้ จนกลายเป็นการถูกกดขี่ข่มเหงและชีวิตสูญสิ้นอิสรภาพ เมื่อถูกครอบด้วยคำว่า “ของฉัน” เพราะมันคือ มาตรฐาน
การอยู่ด้วยความเคารพ เป็นคนละส่วนกับการแสดงสิทธิ์ความคิดเห็นชอบธรรม และถูกทำนองคลองธรรม
การทำหน้าที่ดูแลซึ่งกันและกัน มีความเคารพ กตัญญ และเมตตาเป็นเครื่องนำใจ
อย่าทำตนต่ำกว่ามาตรฐาน
อย่าถูกหลอกด้วยคำว่า “มาตรฐาน”
ที่มา : คำสอนท่านอาจารย์ Techoblog 23 ธันวาคม 2558